นายอรรถพล วัชระไพโรจน์ กรรมการ บริษัท STARK แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่บริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณี พิเศษตามขอบเขตที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ขยายผลเพิ่มเติม (extended-scope special audit) ตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ขยายระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวจนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2566
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสำนักงาน ก.ล.ต. มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของบริษัท และบริษัทย่อยที่สำคัญทั้งหมด บริษัทจึงได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจปกติของกลุ่มบริษัท แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะไม่ได้ทำให้กลุ่มบริษัทหยุดประกอบกิจการทั้งหมด แต่ก็ทำให้เกิดข้อจำกัดต่างๆอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้าและลูกค้าของบริษัทการสรรหาบุคลากร (ไม่ว่าจะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในตำแหน่งสำคัญ) เพื่อเข้ามาบริหารกิจการ และแก้ไขปัญหาของกลุ่มบริษัท การลาออกของช่างฝีมือ (skilled-workers) การดำเนินธุรกิจของในกลุ่มบริษัทจึงขาดความต่อเนื่องและมีการหยุดชะงักลงอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มบริษัทจึงต้องระดมบุคลากรและทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากคำสั่งดังกล่าว ตลอดจนทุ่มเทเวลาและทรัพยากรในการจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ในการดำเนินการขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการผ่อนผันให้กลุ่มบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินและกิจการใดที่จำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทต่อไปได้ ดังนั้นจึงทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดเตรียมข้อมูล เพื่อการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงานก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-scope Special Audit) การดำเนินการดังกล่าว จึงยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. ขยายเพิ่มเติม
โดยบริษัทได้จัดส่งรายงานความคืบหน้าให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK
บริษัทยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของ STARK ได้ โดยบริษัทกำลังดำเนินการตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารในส่วนที่เหลือเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว ประมาณ 75% (จากเดิม 60%)
อย่างไรก็ตาม บริษัทประสบปัญหาในการขอรายการเดินบัญชี (bank statement) จากบางธนาคาร เนื่องจากเอกสารที่ได้รับมาไม่มีรายละเอียดเพียงพอในการตรวจสอบข้อมูลความเชื่อมโยงรายการระหว่างผู้รับเงินและผู้จ่ายเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารแจ้งว่าธนาคารสามารถเปิดเผยข้อมูลใน รายการเดินบัญชีในรูปแบบเดียวเท่านั้น และไม่สามารถให้ข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ บริษัทและผู้สอบบัญชี จึงต้องใช้เวลาอย่างมากในการตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารดังกล่าว การดำเนินการในส่วนนี้จึงยังไม่แล้วเสร็จ รวมถึงบริษัทอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมเอกสารอื่น ๆ เพื่อประกอบการลงบัญชีเพิ่มเติม การดำเนินการในส่วนนี้ จึงยังไม่แล้วเสร็จ
2.บริษัทย่อยรายบริษัท เฟลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL)
ในส่วนของ PDITL นั้น แม้ว่าบริษัทจะได้ดำเนินการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและการขาย เพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ แต่เนื่องจากมีปริมาณเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการตรวจสอบซึ่งการตรวจสอบเอกสารสำหรับปี 2565 มีความคืบหน้ามากกว่า 75% (จากเดิม 60%) โดยบริษัทอยู่ระหว่างการทยอยจัดเตรียมและนำส่งเอกสารส่วนที่เหลือให้แก่ผู้สอบบัญชี ควบคู่ไปกับการรวบรวมชุดเอกสารประเภทเดียวกันสำหรับปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเอกสารที่ใกล้เคียงกันและต้องใช้เวลาในการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ใกล้เคียงกัน การดำเนินการในส่วนนี้จึงยังไม่แล้วเสร็จ
3.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI)
ในส่วนของ ADS และ TCI นั้น ผู้สอบบัญชีได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของ ADS แล้วประมาณ 50% (จากเดิม30%) และตรวจสอบข้อมูลของ TCI แล้วประมาณ 50% (จากเดิม 20%) ของข้อมูลทั้งหมด
ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบธุรกรรมที่อาจผิดปกติใน TCI เพิ่มเติม ผู้สอบบัญชีจึงอาจจะต้องขยายขอบเขตในการตรวจสอบเพิ่มเติม บริษัทจึงต้องจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการตรวจสอบดังกล่าว และคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบธุรกรรมดังกล่าว การดำเนินการในส่วนนี้ของ ADS และ TCI จึงยังไม่แล้วเสร็จ ด้วยเหตุการถูกอายัดทรัพย์สิน ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อกลุ่มบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทจึงต้องทุ่มเทบุคลากรและเวลาในการรวบรวมข้อมูลและเอกสารให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้บริษัทสามารถทำธุรกรรมที่จำเป็นได้ และเพื่อขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาผ่อนผันคำสั่งดังกล่าว เพื่อให้กลุ่มบริษัทกลับมาประกอบธุรกิจเป็นปกติ และป้องกันปัญหาในเรื่องการหยุดชะงัก หรือหยุดประกอบกิจการของกลุ่มบริษัท ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ เจ้าหนี้ลูกค้า คู่ค้าต่างๆ และพนักงานของกลุ่มบริษัทอย่างประเมินค่าไม่ได้ บริษัทจึงไม่สามารถดำเนินการให้การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม(Extended-scope Special Audit) เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ดังนั้นบริษัทจึงได้ยื่นหนังสือขอขยายระยะเวลา เพื่อดำเนินการในส่วนนี้เป็นครั้งที่ 2 ไปจนถึงวันที่ 29 กันยายน 2566 และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต.
ทั้งนี้ บริษัทขอยืนยันว่าบริษัทมิได้นิ่งนอนใจและจะดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อให้การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-scope Special Audit) เสร็จสิ้นโดยเร็ว และจะรายงานความคืบหน้าให้กับนักลงทุนทราบเป็นระยะ
ส่วนแนวทางการดำเนินการของบริษัท กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัทและกลุ่มบริษัทที่ถูกอายัดทรัพย์สินตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต.เนื่องจากการอายัดทรัพย์สิน บริษัทจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้ได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถดำเนินการใดๆ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท
นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการยากที่บริษัทจะดำเนินการเพิ่มทุนหรือพิจารณาหานักลงทุนรายใหม่เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของบริษัท และบริษัทยังอาจไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อดำเนินการฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างทุน และโครงสร้างหนี้ของบริษัทภายใต้แผนฟื้นฟู กิจการได้อีกต่อไป เพราะหากกลุ่มบริษัทไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจเป็นปกติ บริษัทย่อมไม่สามารถนำเสนอช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้อย่างประสบความสำเร็จภายใต้การถูกอายัดทรัพย์สิน บริษัทจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการใดๆ เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการผ่อนผันให้กลุ่มบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินและกิจการใดที่จำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทต่อไปได้ เป็นปกติโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ทั้งนี้ บริษัทจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะแก้ไขกรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกรายบริษัท และกอบกู้กิจการของกลุ่มบริษัทเพื่อให้ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ทั้งของบริษัทและบริษัทย่อย ซึ่งดำเนินธุรกิจหลัก เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีค่ามากกว่าศูนย์ และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติของบริษัทย่อย ซึ่งดำเนินธุรกิจหลัก และลดผลกระทบต่อพนักงานของกลุ่มบริษัทที่มีมากกว่า 1,000 ครอบครัว
โดยบริษัทจะแจ้งให้ทราบถึงแนวทางดำเนินการแก้ไขเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และกำหนดเวลาของการดำเนินการดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนทราบต่อไป เมื่อสถานการณ์ของบริษัทดีขึ้น