นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.60 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า  โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideway ในช่วง 34.56-34.69 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ จากรายงานดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดนิวยอร์ก (NY Empire Manufacturing Index) ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแกว่งตัวใกล้ระดับก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าว 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยการปรับเป้าราคาโดยนักวิเคราะห์ของบรรดา หุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Apple +1.7% ตามความหวังยอดขายที่มีแนวโน้มโตดีขึ้น นอกจากนี้ หุ้นเทคฯ ส่วนใหญ่ต่างยังคงได้แรงหนุนจากความหวังว่า เฟดอาจใกล้จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.93% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.39% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.63% กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้บรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ต่างปรับตัวลดลง (Dior -4.7%, Rio Tinto -2.4%) ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคฯ ก็กลับมาปรับตัวลดลง (ASML -3.0%, Infineon Tech. -1.7%) จากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) 

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดนิวยอร์กที่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นบ้าง แต่ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการเข้าซื้อ (Buy on Dip) ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 3.80% ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าสะสมการลงทุนในบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% อีกครั้ง ก็จะเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจมาก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามรายงานข้อมูลดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดนิวยอร์กที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ยังคงเผชิญแรงขายทำกำไร เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่าเฟดอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดการปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจะออกมาดีกว่าคาดก็ตาม ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) เคลื่อนไหวผันผวนใกล้ระดับ 99.9 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 99.8-100.2 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการรีบาวด์ปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง แต่โดยรวมผู้เล่นในตลาดก็ยังคงทยอยเข้าซื้ออยู่ ทำให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาใกล้โซน 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ 

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่ รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์มองว่า ยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายน อาจขยายตัว +0.5% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยยอดขายรถยนต์ ตามการปรับลดราคารถยนต์ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมผลของยอดขายรถยนต์และน้ำมัน (Retail Sales Ex. Auto & Gas) อาจโตเพียง +0.1%m/m ชี้ว่าผู้บริโภคฝั่งสหรัฐฯ ก็เริ่มปรับลดการใช้จ่ายลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ BofA, Morgan Stanley เป็นต้น

โดยแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง จากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ แต่ทว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติอาจรอความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองไทยอยู่ ทำให้แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจยังพอมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะ แรงขายบอนด์ระยะสั้น นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดการเงินทยอยรับรู้รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นสถาบันการเงินใหญ่ของสหรัฐฯ เพราะหากตลาดผิดหวังกับรายงานผลประกอบการ ก็อาจทำให้ตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งอาจเห็นเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน

ทั้งนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบที่เคยประเมินไว้ โดยมีโซนแนวรับในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวต้านยังคงอยู่ในช่วง 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลง อาทิ บรรยากาศในตลาดการเงิน การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน (ถ้ามี) และสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงระยะสั้น 

โดยเราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงรับรู้รายงานผลประกอบการ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.70 บาท/ดอลลาร์