วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 จากกรณีเมื่อวันที่ 29 พ.ค.66 สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้มีการเผยแพร่ภาพถ่ายของเด็กซึ่งอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงสระบุรี ถูกทารุณกรรมด้วยการมัดมือ มัดเท้า และมีการให้เด็กนอนในห้องน้ำ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภ.จว.สระบุรี พร้อมด้วย พมจ.สระบุรี และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้เข้าตรวจสอบและช่วยเหลือเด็กซึ่งอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงสระบุรี และได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ตามที่นำเสนอไปแล้วนั้น
จากกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.และ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) เข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงได้ประชุมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำเด็กจากสถานสงเคราะห์ดังกล่าวจำนวนทั้งหมด 167 คน เข้ากระบวนการคัดแยกผู้เสียหายร่วมกับสหวิชาชีพ พบว่ามีเด็กตกเป็นเหยื่อการทารุณกรรมมากถึง 46 ราย ซึ่งถูกพี่เลี้ยงภายในสถานสงเคราะห์ดังกล่าว ทารุณกรรมหลายรูปแบบ อาทิ การใช้เชือกมัดมือมัดเท้า เอาเทปกาวปิดปาก ขังเด็กไว้ในห้องน้ำหรือห้องเก็บของ การบังคับให้เด็กลงไปในบ่อน้ำทั้งหรือถังขยะ บังคับให้นอนในห้องน้ำ พูดจาข่มขู่และว่ากล่าวอย่างหยาบคาย ใช้มือและเท้าทำร้ายร่างกายเด็ก จนไปถึงการใช้อาวุธ เช่น ไม้บรรทัด ไม้แบด หรือด้ามไม้กวาดตีเด็ก เป็นตัน ซึ่งปัจจุบันเด็กผู้ตกเป็นเหยื่อทั้งหมด อยู่ในความดูแลของกรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม และกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
จากการชักถามและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการสอบปากคำพยานมากกว่า116 ปาก และได้แจ้งข้อกล่าวหากับพี่เลี้ยง พยาบาล และผู้ฝึกสอนของสถานสงเคราะห์ รวมทั้งสิ้น 7 ราย ประกอบด้วย
1. นายอนุชิต หรือเกรียง โค้ชจักรยานในสถานสงเคราะห์ กระทำโดย ใช้เชือกมัดมือเด็ก
2. น.ส.สุจิตร์ หรือแอ๋ว พี่เลี้ยง กระทำโดย ใช้มือและแท่งเหล็กขว้างทำร้ายเด็ก
3. นางศิริวรรณ หรือตุ๊ก พี่เลี้ยง กระทำโดย ใช้มือตบ ขังในห้องน้ำและในห้องมืด รวมทั้งข่มขู่เด็ก ฯลฯ
4. น.ส.นพวรรณ หรือนิ๊ก พี่เลี้ยง กระทำโดย ใช้มือใช้เท้าทำร้ายเด็ก ใช้ไม้ตีทำร้ายเด็ก ฯลฯ
5. น.ส.จันทิมา หรือจัน พี่เลี้ยง กระทำโดย ใช้มือใช้ไม้ทำร้ายเด็ก รวมทั้งขังเด็กในห้องน้ำ
6. น.ส.ณัฏฐารัญญา หรือบุ๊ค พี่เลี้ยง กระทำโดย มัดมือมัดเท้า ขังในห้องน้ำและห้องมีด รวมทั้งจับเด็กลงบ่อน้ำเสีย ฯลๆ
7. น.ส.เกษพิชชา หรือก้อย พยาบาลในสถานสงเคราะห์ กระทำโดย ใช้โทรศัพท์และใช้ไม้ตีทำร้ายเด็ก
โดยดำเนินคดีในความผิดฐาน ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ (ป.อาญา 391) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจ (พ ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ม.26(1) เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานสงเคราะห์ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ กักชัง ทอดทิ้ง หรือลงโทษเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแล โดยวิธีการรุนแรงประการอื่น เว้นแต่กระทำเท่าที่สมควรเพื่ออบรมสั่งสอนตามระเบียบที่รัฐมนตรี กำหนด (พ.ร บ คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ม.61) เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำด้วยประการใดที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ที่มิใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 5 ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานๆ พ.ศ.2565 ม.6)
ทางด้านพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นคดีที่เด็ก ซึ่งเข้ารับการดูแลคุ้มครองภายในสถานสงเคราะห์ กลับถูกเจ้าหน้าที่ภายในสถานสงเคราะห์กระทำการอย่างทารุณโหดร้าย ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย หรือการจับมัดมือมัดเท้า จึงได้สั่งการให้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ภ.จว.สระบุรี ดำเนินการสืบสวนปากคำพยานโดยละเอียด โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางและให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของเด็กให้น้อยที่สุด ซึ่งจากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ได้ดำเนินคดีกับผู้ดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์รวมทั้งหมด 7 ราย และมีการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เป็นคดีแรกของประเทศไทย ดังนั้น ขอฝากไปยังพี่น้องประชาชน หากมีเบาะแสเกี่ยวกับการทารุณกรรมเด็ก สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน หรือโทร 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทางด้านนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. เผยว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวง รวมทั้งกรมกิจการเด็กและเยาวชน ไม่ได้นิ่งนอนใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับการแก้ไขปัญหา หรือการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีก และเมื่อเกิดขึ้นแล้วทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ประกาศนโยบายออกมาด้วยมาตรการออกมา โดยประกาศ 100 วันพลิกโฉมบ้านสระบุรี และพลิกโฉมสถานรองรับทั้งหมดที่เป็นสถานสงเคราะห์ทั้ง 33 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้มาตรฐานของสถานรองรับนั้น ยกระดับมาใน 100 วันซึ่งใน 100 วันก็จะดำเนินการคือเรื่องที่ 1 เรื่องการปรับสภาพสิ่งแวดล้อม ที่เหมาะสมให้ปลอดภัยต่อเด็ก 2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ในเรื่องการศึกษา และสุขภาพอนามัย ความเป็นอยู่ รวมถึงการมีส่วนร่วมของเด็ก 3.ทำในเรื่องของการที่พัฒนาบุคลากร สนับสนุนบุคลากรให้มีความเพียงพอ ต่อการที่จะดูแลเด็ก ซึ่งจะดูไปในส่วนที่ผู้นำหน่วย และในส่วนของพี่เลี้ยงที่ดูแลเด็ก โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาคส่วนที่เป็น NGO ภาคส่วนวิชาการเข้ามาช่วยในการกำกับติดตาม ในการยกระดับในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก 4.การบริหารจัดการเด็กที่เรียนโดยประกาศนโยบายออกไปแล้วว่า 100 วันเราจะพลิกโฉมสถานรองรับทั้งหมด 33 แห่ง แล้วนำไปบวกกับบ้านพักเด็กและครอบครัวด้วย อีก 77 แห่งซึ่งในหนึ่งนโยบายคือห้ามเด็ดขาดในเรื่องการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ทั้งในร่างกาย และสภาพจิตใจ และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งใน 100 วันนี้ก็จะทำให้เกิดผลประจัก ซึ่งก็จะมีการประเมินเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข