วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงแนวทางพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ว่า จะมีการประชุมร่วมกับสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองวันนี้ เน้นส่งเสริมย่านสร้างสรรค์ด้านกายภาพ เพื่อกำหนดเนื้อหาและโครงสร้างแต่ละย่านสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกัน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันกทม.เน้นกระตุ้นด้านเนื้อหาเป็นหลัก เช่น สนับสนุนกิจกรรมชุมชนในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี แต่ปัญหาคือ การสร้างความยั่งยืนให้กับกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เพราะบางชุมชนอยู่ลึก คนเข้าไม่ถึง กทม.จึงต้องหาแนวทางอำนวยความสะดวกด้านกายภาพ เช่น ปรับปรุงถนน ทางเท้า หรือบางชุมชนอยู่ริมน้ำ อาจต้องสนับสนุนเรือ ปรับปรุงเรื่องคลองสะอาดเพื่อสร้างอัตลักษณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งต้องหารือกับสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง โดยเน้นเรื่องการสร้างความยั่งยืนให้ย่านสร้างสรรค์

 

ทั้งนี้ กทม.มีแผนพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ปี 2566 จำนวน 20 ย่าน ปัจจุบันพัฒนาไปแล้วประมาณ 15-16 ย่าน ในปี2567 เพิ่มอีก 10 ย่าน โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างตามอัตลักษณ์ที่ชุมชนมี คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

 

นายศานนท์ กล่าวว่า กทม.จัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางลงไปที่ชุมชนเพื่อดำเนินนโยบายย่านสร้างสรรค์ ทำให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับประชาชนในชุมชนมากขึ้น เช่น กิจกรรมบางมดเฟสติวัล เปิดบ้านริมคลอง เที่ยวคลองหน้าบ้าน รวมถึงมีแผนส่งเสริมชุมชนย่านริมคลองบางลำพู คลองบางหลวง ตลาดพลู โดยนำเรือที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด มีอยู่มาให้บริการในรูปแบบขนส่งสาธารณะและการท่องเที่ยว

 

“ย่านสร้างสรรค์คือการส่งเสริมชุมชนหลายมิติไปพร้อมกัน เช่น เศรษฐกิจ อัตลักษณ์ และการปรับปรุงโครงสร้างให้สอดคล้องกัน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชนในระยะยาว ที่ผ่านมามีการส่งเสริมจากภาครัฐ แต่ไม่สามารถทำให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง จากการสำรวจพบหลายชุมชนที่มีศักยภาพมากพอจะสร้างความยั่งยืนได้ และพร้อมจะให้รัฐเข้าไปช่วยปรับปรุงด้านโครงสร้างและกิจกรรมต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของการส่งเสริมย่านสร้างสรรค์คามนโยบายของ กทม.” นายศานนท์ กล่าว