วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เวลา 11.00 น. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว การจัดงานวิถีทัศน์วัฒนธรรม (Look up BKK) ว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่มีประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันภายใต้อัตลักษณ์โดดเด่นน่าสนใจ สามารถดึงดูดผู้คนด้านท่องเที่ยวเชิงการศึกษา ชุมชน และการสืบทอดส่งเสริมมรดกศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยกทม.เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลพหุวัฒนธรรม ศิลปร่วมสมัย และผู้คนหลากหลายให้อยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก ซึ่งแตกต่างจากบางประเทศ

 

ทั้งนี้ กทม.จึงร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และมิวเซียมสยาม จัดงานวิถีทัศน์วัฒนธรรม Look Up BKK ขึ้นเป็นครั้งแรกที่มิวเซียมสยาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 12 เทศกาลตามนโยบายกทม. โดยจะจัดในวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 16.00 – 20.00 น. พร้อมการแสดงมรดกทางภูมิปัญญาหาชมได้ยาก เช่น กระตั้วแทงเสือ ลำตัดเด่นหลานหวังเต๊ะ เซิ้งตังหวาย บุษบาเสี่ยงเทียน มโนราห์บูชายัญ โขนกลางแปลง นาเสป เป็นต้นพร้อมกิจกรรม Workshop ที่น่าสนใจ เช่น การร้อยพวงกุญแจดอกรัก การประคบลายทอง และงานปักหินไทย รวมถึงการแสดง Street art performance เช่น Juggling LED เปลี่ยนหน้ากากจีน Two Man Balloon Show พร้อมการออกร้านจำหน่ายสินค้างานฝีมือ โดยกิจกรรมและการแสดงทั้งหมดมีจุดประสงค์เพื่อแสดงสัญลักษณ์การอยู่ร่วมกันของความหลากหลายในกรุงเทพมหานคร

 

ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยแนวทางพัฒนาย่านสร้างสรรค์และเทศกาลต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ว่า ได้จัดงบประมาณให้ 20 สำนักงานเขต เพื่อจัดให้มีย่านสร้างสรรค์ตามแนวทางอนุรักษ์ย่านได้แก่ การส่งเสริมภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมี 20 ย่าน เป้าหมายปี 2567 เพิ่มอีก 10 ย่าน อยู่ระหว่างดำเนินการ

 

ส่วนด้านเทศกาลต่าง ๆ กำหนดให้มี 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ประกอบด้วย 1.เทศกาลดนตรีในสวน"Bangkok Music in the Park" 2.เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) 3.เทศกาลการอ่านและการเรียนรู้กรุงเทพฯ 4.เทศกาลไทยไทย 5.เทศกาลอาหาร 6.เทศกาล Pride Month 7.เทศกาลภาพยนตร์ (กรุงเทพกลางแปลง) 8.เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (บางกอกวิทยา) 9.เทศกาลเด็กและเยาวชน 10.เทศกาลกีฬากรุงเทพฯ 10.เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ 11.เทศกาลแสงสี 12.เทศกาลดนตรีในสวน มีกิจกรรมทุกเดือน เปิดโอกาสให้วงดนตรีเด็กเยาวชน ประชาชน ศิลปิน และผู้พิการเข้าร่วมแสดงดนตรีในสวนสาธารณะ 12 แห่ง

 

นอกจากนี้ ยังมีแผนส่งเสริมให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครส่งนักเรียนที่มีความสามารถด้านดนตรีเข้าร่วมเทศกาลดนตรีในสวน หากโรงเรียนใดพบอุปกรณ์ดนตรีชำรุดหรือขาดแคลนให้ประสานสำนักงานเขตเพื่อขอรับการสนับสนุน รวมถึงการจัดแข่งกีฬาระหว่างชุมชน เช่น แข่งเทควันโดและฟุตซอล เพื่อให้เนื้อหาของเทศกาลตอบสนองความต้องการของประชาชน และพิจารณาเพิ่มสนามกีฬา Picklebal เนื่องจากเป็นกีฬาที่ใช้พื้นที่ไม่มาก ผู้สูงอายุสามารถเล่นได้