เมื่อวันที่ 15 ก.ค.66 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุข้อความว่า น่าเห็นใจส.ว.ทุกคนที่งดออกเสียง และลงคะแนนออกเสียงไม่เห็นชอบให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะบรรดากองเชียร์คุณพิธาที่อาจมีทั้งคนจริงทั้ง IO ต่างออกมากระหน่ำด่ากันอย่างบ้าคลั่ง ใช้คำหยาบคายและต่ำช้า บางคนแช่งให้ไปตายก็มี ตามล่าครอบครัวเขา ข่มขู่คุกคาม มีแม้กระทั่งสร้างเพจปลอมเป็นตัวส.ว.บางคน เขียนด่าด้อมส้มเพื่อให้ด้อมส้มเข้ามาด่าส.ว.คนนั้น ทำกันได้ถึงขนาดนี้

นี่ก็คือความเป็นประชาธิปไตยหรือ อะไรที่ไม่ได้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการก็โวยวาย ด่าทอ โดยไม่ได้สนใจว่ากติกาเป็นอย่างไรเลย คิดอย่างเดียวว่าประชาชนเลือกพรรคก้าวไกลมา 14 ล้านเสียงแล้ว ทุกคนต้องยอมสยบให้พรรคก้าวไกล แบบนี้ต้องเรียกว่า "ประชาธิปไตยตามใจพวกกู"

เคยลองกลับไปดูหรือไม่ว่า ส.ว.และอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีที่มาอย่างไร หรือฟังแต่คนที่พร่ำบอกผ่านสื่อฝั่งเดียวกันว่า ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ส.ว.หรือสมาชิวุฒิสภาชุดนี้มี 250 คน ทุกคนมาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันกับ ส.ส. คือฉบับปี 2560 มาตรา 269ในบทเฉพาะกาล ซึ่งกำหนดไว้เฉพาะใน 5 ปีแรก ประกอบด้วยส.ว.ที่เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้กกต.ทำการสรรหาใน 10 กลุ่มอาชีพ จำนวน 200 คน และคณะกรรมการสรรหาที่คสช แต่งตั้งสรรหาอีด 400 คน สุดท้ายให้คสช.คัดเลือกจากกลุ่มอาชีพให้เหลือ 50 คน และจากกลุ่มที่สรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาให้เหลือ 194 คน ให้สมาชิกวุฒิสภามีอายุ 5 ปี หลังจาก 5 ปีแล้ว การเลือกใหม่ให้กลับไปใช้วิธีการตามมาตรา 107 ตามปกติ

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr

รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติมาโดยได้คะแนนเสียง 16.8 ล้านเสียง ส่วนอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ได้ระบุเป็นคำถามที่เรียกกันว่า คำถามพ่วงท้ายถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งก็ผ่านมาด้วยคะแนนเสียง 15 ล้านเสียง และกำหนดไว้ในมาตรา 272 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล

จะเห็นว่าการได้มาของส.ว.ทั้ง 250 คน ไม่ใช่มาอย่างง่ายๆ ทั้งยังผ่านประชามติมาแล้ว ซึ่งไม่ใช่ง่าย เช่นกัน ไม่ว่าจะอย่างไรต้องถือว่า ส.ว.ทั้ง 250 คน โดยรวมแล้วเป็นคนที่มีคุณภาพ อาจมีคุณภาพสูง

กว่าส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ ลองกลับไปดูส.ว.สมัยที่ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งมาจากการสรรหาตามรัฐธรรนูญ 2540 ที่เรียกกันว่าสภาพี่สภาน้อง ก็จะทราบได้ว่าส.ว.ที่มาจากการสรรหามีความแตกต่างจากส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไร ดังนั้นส.ว.แต่ละคนแม้ในขั้นสุดท้าย คสช จะเป็นผู้กลั่นกรองคัดเลือก ก็ไม่ใช่จะถูกสั่งให้ซ้ายหันขวาหันกันได้ง่ายๆ

เมื่อกติกาถูกกำหนดไว้เช่นนี้ ทุกคนที่เข้ามาในสนามแข่งขันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ย่อมรู้ดีว่ากติกาการแข่งขันเป็นอย่างไร มีใครได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร เมื่อเข้าร่วมแข่งขันก็ต้องถือว่ายอมรับตามกติกานั้นแล้ว แต่เมื่อแข่งขันแล้วแพ้ กลับไม่ยอมแพ้ ไปด่าทอ คุกคาม ส.ว.ที่เขาทำตามหน้าที่ ใช้สมอง ใช้ดุลพินิจของเขาลงคะแนน หรือคนจำนวน 15 ล้านที่อนุญาตให้ส.ว.มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีจากการลงประชามติ ไม่ใช่ประชาชน

พรรคก้าวไกล ก่อนการลงคะแนนในสภา ก็วิ่งเต้นลอบบี้ส.ว.กันอย่างสุดชีวิต จนถึงกับคุยว่าได้คะแนนเสียงครบตามที่ต้องการแล้ว ครั้นไม่ได้ตามที่ต้องการก็มีอาการเช่นเดียวกับด้อมส้ม โจมตีทันทีว่าส.ว.ถูกขู่ไม่ให้โหวตให้คุณพิธา ส.ส.บางคนถึงกับโพสต์ว่า ส.ว.โหวตแบบไม่เจียมกะลาหัว หรือลืมไปว่านี่คือเกมการเมืองที่ต่างคนต่างก็ต้องแข่งขันกันอยู่แล้ว ล่าสุดไปยื่นสภาขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ยกเลิกมาตรา 272 ทั้งที่รู้ว่าเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ทำเหมือนกับเด็กเล่นขายของกระนั้น

การกระทำทั้งหมดของด้อมส้มและของพรรคก้าวไกลเอง จะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นคุณต่อตัวเอง สังเกตว่า พรรคเพื่อไทยเองเริ่มมีอาการที่ไม่ปกติ ไม่แน่ว่าจะยังคงเหนียวแน่นกันเป็นข้าวต้มมัดหรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงส.ว.ที่เขาคงไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยแต่จะตอบโต้อย่างดุเดือด งานนี้อาจมีคนต้องติดคุกเพิ่มอีกหลายคน หากยังดึงดันเสนอชื่อคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ครั้งนี้ส.ว.หลายคนที่ถูกด่าเนื่องจากงดออกเสียง อาจเปลี่ยนใจไม่งดออกเสียงแต่เปลี่ยนเป็น ไม่เห็นชอบก็ได้

บอกได้เลยว่า หากยังเสนอคนเดิมเป็นนายกรัฐมนตรี จะโหวตกันอีกกี่ครั้ง ต่อให้ยอมถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งคงไม่ยอมอยู่แล้ว ก็ไม่มีทางสำเร็จ เพราะเขาไม่เชื่อพวกคุณอีกแล้ว