กรมชลประทาน ติดตาม เฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ รับมือสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งเตือนประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
วันที่ 15 ก.ค.66 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุดีเปรสชั่น ฉบับที่ 2 เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (15 ก.ค.66) พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนทางเหนือ มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค.66 โดยในช่วงวันที่ 16-20 ก.ค.66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้
🚨 ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร
🚨 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
🚨ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี และสระบุรี
🚨ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
🚨ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำ โดยให้บุคลากรประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่สามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้ทันท่วงทีโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากมีฝนตกลงมาบริเวณพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ ย่อมส่งผลดีให้มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย