DSI ถกร่วมศุลกากร - ปศุสัตว์ วงข้อสรุปทำลายหมูเถื่อน 161 ตู้ คาดใช้เวลา 3 วัน ขนย้ายของกลางไปพื้นที่ทหาร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขีดเส้นฝังกลบทำลายสิ้นเดือน ก.ค.นี้ แย้ม ไม่แตะงบหลวง เหตุ บริษัทสายเรือยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคดีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นคดีพิเศษที่ 59/2566 รวมทั้งดีเอสไอได้เร่งดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมศุลกากรกรมปศุสัตว์ ทำการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อตรวจสอบ และปัจจุบันดำเนินการตรวจสอบครบแล้วทั้งหมดจำนวน 161 ตู้ อีกทั้งกรมปศุสัตว์ยืนยันว่าเนื้อสุกรแช่แข็งทั้งหมดนี้เป็นสินค้าที่ไม่ผ่านการตรวจโรคตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ฯ จึงเป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืน ม.31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ฯ และยังเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดตามมาตรา 244 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ เป็นผลให้เนื้อสุกรแช่แข็งดังกล่าว ถือเป็นของอันพึงริบตามมาตรา 166 ของกฎหมาย ซึ่งหากสำแดงถูกต้อง รัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เป็นเงินจำนวนกว่า 460 ล้านบาทนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานความคืบหน้าทางคดีจาก ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร เลขานุการคณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และในฐานะรองผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ (กทศ.) ว่า วานนี้ (13 ก.ค.) เวลาประมาณ 13.30 น. สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ได้มีการเชิญผู้แทนสายเรือร่วมประชุมหารือประเด็นการดำเนินการเกี่ยวกับตู้สินค้าซากสัตว์ประเภทสุกร ตกค้าง จำนวน 161 ตู้ สรุปได้ดังนี้ 1.กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และดีเอสไอได้ร่วมกันตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเนื้อสุกรแช่เเข็ง จำนวน 161 ตู้ ตามที่ได้ร้องทุกข์ กล่าวโทษเสร็จสิ้นแล้ว 2.ผู้แทนสายเรือหลายแห่ง จากทั้งหมด 17 สายเรือ ได้แจ้งความประสงค์จะสนับสนุนออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งและทำลายซากสัตว์ จำนวน 123 ตู้ และคาดว่าในระหว่างหลังจากนี้ อาจมีเพิ่มจนครบทั้ง 161 ตู้ อย่างไรก็ตาม บริษัทสายเรือรายอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติจากบริษัทฯ และ 3.กรมปศุสัตว์ ได้แจ้งว่าจะใช้พื้นที่ทำลายฝังกลบซากสัตว์ โดยจะเป็นพื้นที่ทหารในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยจะนำข้อมูลเสนอเข้าคณะทำงานของกรมปศุสัตว์และเร่งรัดในการทยอยทำลายครบทั้ง 161 ตู้ ให้เสร็จสิ้นภายในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เพราะขณะนี้หมูเริ่มทยอยเน่าจำนวนมากขึ้นแล้ว ส่งกลิ่นเหม็นเน่าเป็นอย่างมาก
ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ยังเผยอีกว่า สำหรับการทำลายฝังกลบเนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้ในเขตพื้นที่ทหาร อำเภออรัญประเทศ เบื้องต้นทางกรมปศุสัตว์ได้มีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ชุดตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิด วัตถุต้องสงสัย หรือ EOD เพื่อให้เข้าตรวจสอบความพร้อมและปลอดภัยของสถานที่ดังกล่าวเนื่องจากเป็นพื้นที่แนวชายแดน ส่วนเรื่องงบประมาณในการใช้ทำลายฝังกลบ เดิมทีมีการประเมินกันไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านบาท แต่เนื่องด้วยมีการประเมินร่วมกันใหม่อีกครั้ง คาดว่าค่าใช้จ่ายจะถูกลงเหลือเพียงไม่เกิน 10 ล้านบาท (ในกรณีเป็นการทำลายฝังกลบพร้อมกันหมดทีเดียว) โดยเรามีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ไม่ต้องการใช้งบประมาณของประเทศชาติ อีกทั้งยิ่งมีการทำลายของกลางไว บริษัทสายเรือก็จะได้ตู้คอนเทนเนอร์กลับคืนไว ดังนั้น คาดการณ์ว่าการขนลำเลียงของกลางไปยังพื้นที่ทำลายจะใช้ระยะเวลา 3 วัน โดยขนลำเลียงครั้งละ 10 ตู้ ส่วนวันที่และเวลาในการขนย้ายของกลาง หรือขนาดพื้นที่ที่จะใช้ฝังกลบทำลาย จะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ที่จะประสานแจ้งกลับมายังทางดีเอสไออีกครั้ง
ร.ต.อ.ชาญณรงค์ เผยต่อว่า การขนย้ายของกลางจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไปยังพื้นที่เขตทหาร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เราจะดำเนินการในตอนกลางคืน โดยมีขบวนรถของดีเอสไอนำทางและปิดท้าย ส่วนที่เลือกลำเลียงในช่วงเวลากลางคืนเนื่องจากการจราจรที่คล่องตัวและเนื้อหมูไม่ส่งกลิ่นเหม็นเน่าสร้างความรำคาญแก่ประชาชน ทั้งนี้ ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างรอข้อสรุปความชัดเจนเรื่องวันที่ เวลา และรายละเอียดเพิ่มเติมกับทั้งกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร
นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 59/2566 ยังได้รับมอบสำนวนการสอบสวนคดีที่ 697/2566 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แหลมฉบัง เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานในคดีพิเศษ ก่อนพิจารณาเนื้อหาคำให้การต่างๆภายในสำนวน เพื่อใช้ดำเนินการในการออกหมายเรียกพยานหรือหมายเรียกผู้ต้องหาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป.