กรมการค้าต่างประเทศเน้นย้ำสร้างการค้าที่เป็นธรรม พร้อมรับฟังและให้คำปรึกษาอุตสาหกรรมเหล็กไทยรับมือสินค้าเหล็กจากต่างประเทศไหลเข้าต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ให้ความเป็นธรรมต่อผู้นำเข้าเหล็ก หากมีการนำเข้าตามกลไกของราคาปกติ ไม่มีการทุ่มตลาดหรืออุดหนุนด้านราคา

นายนพดล คันธมาศ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) กล่าวว่า คต. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของไทยที่คำนึงถึงทุกภาคส่วน ซึ่งในส่วนของการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ไทยมีกฎหมายว่าด้วยการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti - Circumvention : AC) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับความเสียหายจากการหลบเลี่ยงมาตรการ และใช้ในการแก้ไขปัญหาการเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti - Dumping : AD) และอากรตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD)
 

สำหรับข้อมูลสถิติจาก Worldsteel Association ได้รายงานว่า ในปี 2565 ประเทศที่มีการนำเข้าเหล็กสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สหภาพยุโรป 48.1 ล้านตัน สหรัฐอเมริกา 28.9 ล้านตัน และ เยอรมัน 21 ล้านตัน สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าเหล็กในปริมาณ 13.4 ล้านตัน เป็นอันดับที่ 8 ของโลก สำหรับสถานการณ์การนำเข้าเหล็กของไทยในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 ตามข้อมูลของ Global Trade atlas พบว่าไทย มีปริมาณการนำเข้า 4.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 3 ประเทศหลักที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงสุดได้แก่ (1) จีน (42.76%) (2) ญี่ปุ่น (37.31%) และ (3) เกาหลีใต้ (12.15%) จากการนำเข้ารวมทั้งหมด สำหรับประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเหล็กรายใหญ่ของโลก ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 จีนมีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งสิ้น 29.7 ล้านตัน โดย 5 ประเทศแรกที่จีนมีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ (1) เกาหลีใต้ 3 ล้านตัน (10.10%)  (2) เวียดนาม 2.7 ล้านตัน (9.26%)  (3) ตุรกี 2.2 ล้านตัน (7.35%) (4) ไทย 1.8 ล้านตัน (6.28%) และ (5) สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ 1.3 ล้านตัน (4.54%) ของการส่งออกรวมทั้งหมด

ทั้งนี้ คต.สนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบหรือข้อตกลงทางการค้า เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคให้ได้ของมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม โดย คต.ในฐานะหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกทางการค้าและปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้า จะกำกับและดูแลให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการมีข้อกังวล หรือได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเกิดจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยอาจเป็นการทุ่มตลาดหรือมีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด สามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับข้อกำหนดในการยื่นคำขอให้ คต.เปิดไต่สวนมาตรการ AD หรือ AC เพิ่มเติมได้ 

โดยการดำเนินการไต่สวนเพื่อกำหนดใช้มาตรการ AD หรือ AC เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนตามที่ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ กำหนด ซึ่งเป็นกระบวนการที่โปร่งใส รับฟังข้อมูลข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย และข้อมูลที่นำมาใช้พิจารณามีการตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียดรอบคอบ สำหรับในขั้นตอนการเปิดไต่สวนนั้น เมื่อคต. ได้ตรวจสอบข้อมูลคำขอของผู้ยื่นคำขอแล้วพบว่าครบถ้วนถูกต้อง คต. จะนำเสนอข้อมูลดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาด (ทตอ.) เพื่อพิจารณาเปิดไต่สวนต่อไป ดังนั้นจึงขอให้ภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ความเชื่อมั่นในการกระบวนการไต่สวนและการดำเนินการของ คต. ว่าดำเนินการอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศเป็นสำคัญ