หอการค้าไทย ประเมินสถานการณ์กรณีผลโหวตที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติยังไม่เห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี กังวลตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบเชื่อมั่น-ลงทุนต่างประเทศฉุดเศรษฐกิจทั้งปี 66 ต่ำกว่าเป้า 3% วอนชุมนุมได้ขอไม่ลงถนน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการลงคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หอการค้าไทย เชื่อว่ากระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยในทางรัฐสภาได้พยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เป็น candidate ยังไม่สามารถผ่านการลงคะแนนได้ในครั้งแรก ซึ่งยังมี Timeline ครั้งที่ 2-3 ตามที่มีกำหนดออกมาเบื้องต้นในวันที่ 19 และ 20 ก.ค.66 โดยหลังจากนี้ทั้ง 8 พรรคร่วมฯ คงจะกลับไปทำความเข้าใจและเจรจาพูดคุยเพื่อหาแนวทางร่วมกันใหม่อีกครั้ง และคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด 

ขณะที่ด้านการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนภายใต้กฎหมายที่สามารถทำได้ และวันนี้เราเห็นแล้วว่าทุกฝ่ายต่างยอมรับและเคารพในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเชื่อว่าในระยะสั้นการชุมนุมจะอยู่บนพื้นฐานของความเรียบร้อย ไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายมองว่าสามารถเติบโตได้ทั้งปี 3-3.5%

อย่างไรก็ตามวันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ แต่หอการค้าฯ ยังคงเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีกระบวนการหารือและทำความเข้าใจร่วมกัน ในที่สุดทุกฝ่ายจะเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ และสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะหากได้รัฐบาลล่าช้าออกไป การจัดตั้ง ครม. และการประกาศนโยบายต่อรัฐสภาอาจจะเกิดขึ้นช่วง ส.ค.- ก.ย.66 และกว่าจะจัดทำงบประมาณแล้วเสร็จอาจได้เริ่มใช้งบประมาณประเทศในไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งจะล่าช้าและกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเอกชนจึงอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่รวดเร็วที่สุด เพื่อเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้