“วัดบางคลาน” ปมขัดแย้งยาวนานนับสิบปี
จากกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตำรวจ สนธิกำลังกว่า 250 นาย เข้าควบคุมพื้นที่ ปฏิบัติการนำพระครูพิสุทธิวรากร เจ้าอาวาส และคณะกรรมการวัดบางคลาน เข้าปฏิบัติงานภายในวัด หลังมีปัญหาความขัดแย้งนานเกือบ 10 ปี โดยบรรยากาศการปฏิบัติการทางเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าเพื่อจะเปิดประตูรั้ว ทั้ง 6 ด้าน แต่มีชาวบ้านเป็นของกลุ่มอดีตเจ้าอาวาสกว่า 100 คน ที่อยู่ภายในวัดทำการปิดประตูวัด ใช้โซ่กุญแจคล้อง ปิดทางกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าภายในวัด
บรรยากาศการเจรจาของฝ่ายทางราชการกับฝ่ายชาวบ้านที่รวมตัวต่อต้านอยู่ภายในวัดเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด ฝ่ายชาวบ้านยืนกรานไม่ยอมให้พระครูพิสุทธิวรากร และลูกศิษย์ รวมทั้งผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปภายในวัด เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้กรรไกรตัดเหล็กพยายามตัดโซ่เพื่อเปิดประตูวัด ฝ่ายชาวบ้านที่อยู่ด้านในวัดได้ตอบโต้ด้วยการฉีดน้ำผสมยาฆ่าหญ้าใส่เจ้าหน้าที่ พร้อมระดมยิงหนังสติ๊กที่มีกระสุนเป็นลูกแก้วและหัวนอตเข้าใส่ เจ้าหน้าที่ต้องใช้โล่ปราบจลาจลป้องกัน แต่มี อส.ถูกกระสุนได้รับบาดเจ็บหลายนาย เจ้าหน้าที่เกรงเหตุการณ์จะบานปลาย สั่งกำลังทั้งหมดถอยร่นออกห่างจากประตูวัดทันที
สำหรับ วัดหิรัญญาราม ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดบางคลาน หรือวัดวังตะโก เป็นวัดที่หลวงพ่อเงินเคยจำพรษาอยู่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเก่า สิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจของวัดนี้คือ พิพิธภัณฑ์นครไชยบวร เป็นพิพิธภัณฑ์รูปมณฑป 2 ชั้น ชั้นบนประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของ หลวงพ่อเงิน เกจิอาจารย์ที่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศรู้จักและเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่งที่เคยจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ชั้นล่าง เป็นที่แสดงโบราณวัตถุต่างๆที่ทางวัดได้สะสมไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุที่มีผู้นำมาถวาย เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ เปิดให้ประชาชนนมัสการระหว่างเวลา 08.00-17.00 น.
โดยหลวงพ่อเงินเป็นผู้สร้างวัดเมื่อประมาณปี พ.ศ.2374 หลวงพ่อเงิน เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.ย.2348 เป็นชาวบ้าน ต.บางคลาน จ.พิจิตร อายุ 3 ขวบ ไปอยู่กับลุง ชื่อนายช่วง ที่กรุงเทพฯ และเข้าเรียนที่บ้านตองปุ (วัดชนะสงคราม) จังหวัดพระนคร อายุ 12 ปี บรรพชาศึกษาพระปริยัติธรรม อาคมวิทยาการต่างๆ จนแตกฉาน เมื่ออายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดชนะสงคราม ได้รับฉายา พุทธโชติ เรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ได้ 3 พรรษา และได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาศิลปวิทยาคม ตลอดจนเรียนวิปัสสนาธุระ จากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม จากนั้นกลับไปจำพรรษาที่วัดคงคาราม (วัดบางคลานใต้) อ.บางคลาน จ.พิจิตร บ้านเดิมของท่านอยู่ได้ 1 พรรษา ก่อนย้ายไปอยู่หมู่บ้านวังตะโก ซึ่งลึกเข้าไปในทางลำน้ำแควพิจิตรเก่า โดยหักกิ่งโพธิ์ไปด้วย 3 กิ่ง และปักลงตรงบริเวณป่าตะโก อธิษฐานจิตว่า ถ้าได้มาสร้างวัด ณ สถานที่แห่งนี้ ถ้ามีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคตข้างหน้า ขอให้กิ่งโพธิ์ทั้ง 3 กิ่ง เจริญงอกงามตามไปด้วย ปรากฏว่าเป็นไปตามคำอธิษฐานทุกประการ สร้างกุฏิ วิหาร อุโบสถและเสนาสนะภายในวัด จนสมบูรณ์ครบถ้วน
หลวงพ่อเงิน เป็นพระเกจิอาจารย์ ผู้เลื่องชื่อด้านวิทยาคมแห่งเมืองพิจิตร สามารถรู้ผู้มาเยือนด้วยญาณวิเศษ และยังเป็นหมอเชี่ยวชาญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ชาวบ้านอีกด้วย อิทธิปาฏิหาริย์ร่ำลือกันไปไกลมาก จนถึงขนาดเสด็จในกรม “กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ยังเสด็จไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อเงิน มรณภาพอย่างสงบ ด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2462 ที่วัดวังตะโก อ.บางคลาน จ.พิจิตร สิริอายุ 114 ปี 92 พรรษา