วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง นายอำนาจ ปานเผือก รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่สอง เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) เข้าร่วม

 

นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาบริหารจัดการการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุม โดยให้เหตุผลว่า หลักเกณฑ์กำหนดให้ครูการศึกษาพิเศษ 1 คน สอนนักเรียนพิเศษ 6 คน ขณะที่กทม.มีโรงเรียนทั้งหมด 437 แห่ง เปิดสอนแบบเรียนร่วมเพื่อรองรับเด็กพิเศษที่มีความบกพร่อง 158 โรงเรียน มีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษจำนวน 4,213 คน มีครูการศึกษาพิเศษ 362 คน หากเทียบอัตราครูกับนักเรียน 1 ต่อ 6 กทม.ยังขาดครูการศึกษาพิเศษอีกจำนวน 340 คน

 

นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์กำหนดว่า นักเรียนจะต้องมีบัตรคนพิการจึงจะสามารถเปิดโรงเรียนเรียนร่วมได้ โดยการทำบัตรคนพิการมี 2 แนวทาง คือ 1.ต้องไปตรวจที่สถานีอนามัย 2.ต้องไปตรวจที่สถาบันราชานุกูล หรือโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งหมดตรวจเด็กพิเศษได้วันละ 2 คน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบัตรคนพิการ จึงขอเสนอให้สถานีอนามัยเข้าไปตรวจเชิงรุกในเด็กกลุ่มเสี่ยงระดับอนุบาล ที่ผ่านการคัดกรองและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองแล้วอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนระดับประถมขึ้นไปให้โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ตรวจเชิงรุกรวมถึง ขอให้เพิ่มจำนวนโรงเรียนและบุคลากรเพื่อรองรับเด็กพิเศษ

 

หลังจากนั้น มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เช่น ขอให้พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนเรื่องการดูแลการศึกษาให้เด็กพิเศษ การชี้ปัญหาการเรียนร่วมว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญดูแล ซึ่งหาได้ยาก การชี้ปัญหาอุปสรรคการเพิ่มอัตราครูเฉพาะทาง รวมถึง การนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริม หรือเพิ่มแทนครูเฉพาะทางสำหรับเด็กพิเศษที่กำลังขาดแคลน เป็นต้น

 

ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ดำเนินการดังนี้ 1.เพิ่มจำนวนโรงเรียนจัดการศึกษาพิเศษ (เรียนร่วม) โดยมีการเปิดการจัดการศึกษาพิเศษ (เรียนร่วม) ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการทางการศึกษาสำหรับประชาชนที่มีบุตรหลานที่มีความต้องการพิเศษได้เรียนใกล้บ้าน 2.พัฒนาบุคลากรของโรงเรียนให้มีทักษะความรู้ความสามารถในการจัดการศึกษาพิเศษ อบรมผู้บริหารสถานศึกษาและครู ให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงศึกษานิเทศก์ ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริม ให้คำแนะนำ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน

 

3.เพิ่มครูการศึกษาพิเศษ ปรับปรุงเกณฑ์การคิดอัตรากำลังครูผู้ปฏิบัติหน้าที่สอนคนพิการเดิม และครูผู้ปฏิบัติหน้าที่สอน 1 คน ต่อนักเรียน 10 คน เปลี่ยนเป็น ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่สอน 1 คน ต่อนักเรียน 6 คน 4.ให้เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ หรือ การพิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่สอนคนพิการ (พ.ค.ก.) ในอัตราเดือนละ 2,500 บาท/คน

 

5.จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาสำหรับนักเรียนการศึกษาพิเศษ รายละ 2,000 บาท เพิ่มเติมจากงบประมาณที่จัดสรรให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหาคร ทุกปีการศึกษา และปีการศึกษา 2566 ได้จัดสรรให้โรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษ 158 โรงเรียน เป็นเงิน 8,426,000 บาท

 

ส่วนแนวทางการคัดกรองนักเรียน สำนักการศึกษาได้กำหนดให้มีผู้ดำเนินการคัดกรองคนพิการทางการศึกษาจำนวน 437 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2567 โดยจะดำเนินการฝึกอบรมให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร ในหลักสูตรการฝึกอบรม ผู้ดำเนินการคัดกรองคนพิการทางการศึกษา ตามประกาศคณะกรรมการพิจารณาให้คนพิกรได้รับสิทธิช่วยเหลือทางการศึกษา เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การรับรองบุคคลของสถานศึกษาว่าเป็นคนพิการ โดยกรุงเทพมหานครออกวุฒิบัตรการคัดกรองคนพิการให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานครและมีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องทุกปีเพื่อเพิ่มผู้ดำเนินการคัดกรองคนพิการทางการศึกษา โดยมีเนื้อหาหลักสูตรการฝึกอบรม ประกอบด้วย หน่วยที่ 1 สิทธิคนพิการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หน่วยที่ 2 ประเภทคนพิการทางการศึกษาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยที่ 3 การใช้แบบคัดกรองคนพิการทางการศึกษา 9 ประเภท หน่วยที่ 4 เทคนิคการให้คำปรึกษาและการประสานกับผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้อง หน่วยที่ 5 การวางแผนการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับความพิการแต่ละประเภท

 

สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับครูการศึกษาพิเศษที่ผ่านมา ได้แก่ 1.ปรับปรุงเกณฑ์การคิดอัตรากำลังครูผู้ปฏิบัติหน้าที่สอนคนพิการเดิม และครูผู้ปฏิบัติหน้าที่สอน 1 คนต่อนักเรียน 10 คน เปลี่ยนเป็นครูผู้ปฏิบัติหน้าที่สอน 1 คน ต่อนักเรียน 6 คน 2.เปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร 3.การคัดเลือกกรณีพิเศษในการสรรหาครูการศึกษา ได้แก่ โครงการช้อนครู และโครงการทุนเอราวัณ

 

ทั้งนี้ ปัญหาที่พบ คือ ครูการศึกษาพิเศษยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียน เพราะมีผู้สอบได้น้อย และมหาวิทยาลัยที่เปิดสาขาการศึกษาพิเศษมีผู้เรียนน้อย กทม.จึงแก้ไขด้วยวิธีเพิ่มครูการศึกษาพิเศษ โดยเปิดรับสมัครข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานครที่สนใจปฏิบัติหน้าที่ในการสอนนักเรียนการศึกษาพิเศษแต่ไม่มีวุฒิการศึกษาพิเศษ เพื่อทดแทนอัตรากำลังที่ขาดแคลน และเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรฝึกอบรมครูด้านการสอนคนพิการ โดยผู้ผ่านการอบรมมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ พ.ค.ก. โดยมีเนื้อหาหลักสูตรการฝึกอบรม 2 ส่วน คือ 1.ภาคทฤษฎี 200 ชั่วโมง ประกอบด้วย การศึกษาเนื้อหาความรู้พื้นฐานด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ หรือผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษแต่ละประเภทด้วยตนเอง (120 ชั่วโมง) 2.ภาคปฏิบัติ ฝึกปฏิบัติการสอน 1 ภาคเรียน (ไม่น้อยกว่า 160 ชั่วโมง) จัดทำผลงานทางวิชาการและเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา

 

นอกจากนี้ กทม.มีแผนอบรมบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดการบูลลี่ (การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น) เด็กพิเศษในโรงเรียน และตั้งเป้าขยายห้องเรียนดิจิทัลคลาสรูมซึ่งรองรับเด็กพิเศษด้วย จำนวน 11 โรงเรียน หรือ 57 ห้องเรียน ในปี 2566 และในปี 2567 เพิ่มอีก 100 โรงเรียน พร้อมจัดสรรงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ในการปรับปรุงโรงเรียนเพิ่มเติม