นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ต้องรอลุ้นว่า จะมีการลงมติโหวตเลือกหรือไม่ เพราะเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากผลสำรวจนักธุรกิจต่างกังวลการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ หากลากยาวนานออกไปจะไม่มีรัฐมนตรีตัวจริงขับเคลื่อนนโยบายใหม่ฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งนักธุรกิจและผู้บริโภคต่างจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะสรุปในวันนี้ หรือต้องโหวตเลือกอีกหลายสูตรในวันถัดไป 

ทั้งนี้คาดการณ์ว่า การจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นสูตรไหน ใครเป็นนายกรัฐมนตรี หากจัดตั้งรัฐบาลได้ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.66 ถือว่ากระทบต่อเศรษฐกิจน้อย คงจะไม่รุนแรง เพราะถือว่ายังอยู่ในกรอบ สามารถเดินหน้างบลงทุนต่างๆ โดยใช้กรอบงบผูกพันเดิม ส่วนการใช้งบประมาณปี 2567 อาจถูกเลื่อนออกไปเบิกจ่ายได้เดือนมี.ค.67 จะทำให้ภาคธุรกิจวางแผนลงทุนได้ แต่หากจัดตั้งรัฐบาลยือเยื้อออกไปเลยเดือนต.ค.66 ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณอาจเลื่อนออกไปช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ยอมรับกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจวงกว้าง จึงอยากให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเดินหน้าโครงการเดิม และส่วนราชการใช้งบคุรุภัณฑ์จัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เงินออกสู่ระบบ 

โดยหากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีราบรื่น จัดตั้งรัฐบาล เพื่อออกมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันการลงทุนโดยไม่มีความรุนแรง เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 4 แต่หากการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มีการประท้วงรุนแรง ต่างชาติประกาศเตือนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย จากเดิมคาดยอดนักท่องเที่ยว 30 ล้านคน หากครึ่งปีหลังนักท่องเที่ยวหายไป 10 ล้านคน ยอมรับว่าทำให้รายได้ท่องเที่ยวหดหายไป 5 แสนล้านบาท กระทบต่อจีดีพีถึงร้อยละ 1 ไม่อยากให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น