วันที่ 13 ก.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า ...
อัพเดตโควิด-19
1. Omicron แตกหน่อต่อยอดไปกว่า 1,500 สายพันธุ์ย่อย
ข้อมูลจากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสจนถึงปัจจุบัน (Cr: Rajnarayanan R) ชี้ให้เห็นว่าไวรัสโรคโควิด-19 ยังมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้สายพันธุ์ Omicron จะครองการระบาดมานานเป็นปีที่สอง ก็ยังมีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง โดยมีสายพันธุ์ย่อยไปแล้วกว่า 1,500 สายพันธุ์ย่อย
ในจำนวนดังกล่าว เป็นลักษณะการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง Omicron กับสายพันธุ์อื่นอย่างน้อย 537 สายพันธุ์ย่อย
ทั้งนี้ ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา มีอยู่ 599 สายพันธุ์ย่อย ที่ได้รับการรายงานตรวจพบอย่างน้อย 1 ครั้งจากประเทศต่างๆ
การระบาดทั่วโลกล้วนมีลักษณะซุปสายพันธุ์ ที่มีหลากหลายสายพันธุ์ไวรัสในสัดส่วนแตกต่างกันไป แม้ในภาพรวมแล้ว XBB.1.16 จะมีรายงานการตรวจพบในสัดส่วนที่สูงที่สุด อาทิ
อเมริกา XBB.1.5*, XBB.1.16* และ EG.5.1*
จีน: EG.5.1*, FU.1* และ FY.3*
ออสเตรเลีย: XBB.1.16*, XBC.1.6*,
บราซิล: FE.1.2*
การเฝ้าระวังติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดในแต่ละประเทศจึงมีความสำคัญ เพื่อที่จะทราบแนวโน้มผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแต่ละสายพันธุ์ว่าทำให้เกิดปัญหาเรื่องสมรรถนะการแพร่ระบาด รวมถึงความรุนแรงของโรค
2. Long COVID เป็นแล้ว อาจหายขาดได้น้อย หรือยืดเยื้อกว่าที่เคยเชื่อกันมา
งานวิจัยล่าสุดจากทีมงานประเทศสเปน เผยแพร่ใน SSRN (Preprints with the Lancet) เมื่อ 12 กรกฎาคม 2023
ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 341 ราย ที่ประสบปัญหา Long COVID โดยติดตามดูนานถึง 2 ปี
พบว่า มีผู้ป่วย Long COVID เพียง 26 ราย หรือคิดเป็น 7.6% เท่านั้นที่หายดีจนเป็นปกติ โดยส่วนใหญ่ในกลุ่มที่หายดีเป็นปกตินี้มักเป็นผู้ที่ประสบปัญหาประเภทอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า การดมกลิ่นหรือรับรสผิดเพี้ยน หรือเป็นเพศชาย
ในขณะที่กลุ่มผู้ป่วย Long COVID ที่มีอาการประเภทปวดกล้ามเนื้อ หอบเหนื่อย ใจสั่น หรือมีปัญหาด้านสมาธินั้น มักไม่ค่อยดีขึ้นเมื่อติดตามไปจนถึง 2 ปี
ผลการศึกษานี้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับงานวิจัยใหม่ๆ ที่ทยอยเผยแพร่กันออกมาในปัจจุบัน และชี้ให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ที่มีการแพร่เชื้อติดเชื้อจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ จำเป็นต้องเตรียมรับมือกับปัญหา Long COVID ในระยะยาว
ตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
ตระหนักเสมอว่า การติดเชื้อแต่ละครั้งนั้น ทำให้ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะทุพพลภาพระยะยาวอย่าง Long COVID อีกด้วย
อ้างอิง
1. Gregory TR et al. World Health Network. 13 February 2023. (ภาพที่ 1)
2. Determinants of the Onset and Prognosis of the Post-COVID-19 Condition: A 2-Year Prospective Cohort Study. SSRN (Preprints with the Lancet). 12 July 2023