สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ชวนคนไทยเลือกซื้อหมูไทย-กินหมูไทยปลอดภัยกว่า “หมูเถื่อน” ร่วมสร้างเศรษฐกิจประเทศชาติ ช่วยต่อลมหายใจเกษตรกร หลังถูกหมูเถื่อนแทรกแซงตลาดจนราคาตกต่ำ สวนทางราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญหมูนำเข้าผิดกฎหมายค้างปี มีเชื้อโรคปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค
วันที่ 12 ก.ค.66 น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์เปิดตู้หมูเถื่อน 161 ตู้ ที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นการตอกย้ำปัญหาหมูเถื่อนขยายวงกว้างหลังไทยประสบปัญหาโรคระบาด ASF หมูในประเทศขาดแคลน เปิดโอกาสให้ “หมูเถื่อน” ทะลักเข้ามาสร้างซัพพลายเทียม แทรกแซงตลาดดั๊มพ์ราคาจนราคาในประเทศตกต่ำ ทำลายโอกาสของเกษตรกรไทยมานานกว่า 18 เดือน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายเล็ก ต้องประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาโดยตลอดจนบางรายต้องเลิกเลี้ยง ทำความเสียหายให้กับเศรษฐกิจประเทศมากกว่า 50,000 ล้านบาท ที่สำคัญหมูเถื่อนที่ยังตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังเป็นเวลานานมีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียและสารปนเปื้อน ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค
“หมูเถื่อน เป็นปัจจัยบั่นทอนความมั่นคงทางอาหารของคนไทย สมาคมฯ จึงอยากเชิญชวนผู้บริโภคให้เลือกซื้อเนื้อหมูของไทยที่มีความปลอดภัย มีการเลี้ยงพิถีพิถัน มีมาตรการป้องกันโรคระบาดที่เข้มแข็ง ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ดีต่อสุขภาพ จากร้านที่เชื่อถือได้หรือร้านที่สัญญลักษณ์รับรองมาตรฐาน ที่สำคัญยังช่วยสนับสนุนผู้เลี้ยงหมูให้มีรายได้เพื่อรักษากิจการไว้ มีผลผลิตป้อนตลาดในประเทศต่อเนื่อง” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว
น.สพ.วิวัฒน์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด พิกบอร์ด เสนอแนะว่า ภาครัฐควรพิจารณามาตรการสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในเรื่องต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นต่อเนื่องประมาณ 25-30% มามากกว่า 2 ปี ทำให้ราคาเนื้อหมูของไทยขณะนี้เป็นราคาที่เกษตรกรขาดทุนและเป็นการขาดทุนสะสมมามากกว่า 6 เดือนแล้ว โดยราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 53-55 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สมาคมฯ ประกาศต้นทุนการผลิตเดือนมิถุนายน 2566 เฉลี่ยที่ 90.57 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้ อยากขอให้ภาครัฐนำกลไกตลาดมาใช้เป็นปัจจัยในการสร้างสมดุลราคาหมูมีชีวิตและเนื้อหมูอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ราคาขึ้นลงสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต เพื่อช่วยลดการขาดทุนของเกษตรกร เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาการเลี้ยงให้มีมาตรฐานสูงขึ้น มีผลผลิตเนื้อหมูคุณภาพดีป้อนตลาดเพียงพอไม่ขาดแคลน ตลอดจนพิจารณาทบทวนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งเงื่อนไขการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนและภาษีนำเข้า ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในห่วงโซ่การผลิตอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและปลอดภัยให้กับคนไทยทั้งประเทศ