FTSE Russell สถาบันจัดทำดัชนีหลักทรัพย์ชั้นนำจากประเทศอังกฤษ ประกาศรายชื่อบริษัทที่ติดอันดับ FTSE4Good 2023 หนึ่งในดัชนีความยั่งยืนเป็นที่ยอมรับระดับสากล โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เป็นสมาชิกต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และเป็นบริษัทโทรคมนาคมไทยรายเดียวที่ติดกลุ่มคะแนนสูงสุดอันดับโลกของกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลก โดยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมในทุกมิติของ ESG โดยเฉพาะด้านสังคมที่ได้คะแนนเต็มจากการส่งเสริมการศึกษาเยาวชนไทยผ่านโครงการทรูปลูกปัญญา มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ด้านสิ่งแวดล้อม ติดตั้งพลังงานสะอาดโซล่าเซลล์ที่เสาสัญญาณและชุมสาย เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการจัดการ e-Waste อย่างถูกวิธี และด้านธรรมาภิบาล มุ่งเน้นบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมสนับสนุนความเท่าเทียมกันของคนทุกกลุ่มในสังคม ย้ำภาพเทคคอมปานีที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างคุณค่าระยะยาวแก่สังคมไทย 

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “การดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นสิ่งที่องค์กรทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เนื่องด้วยเป็นปัจจัยหลักที่จะนำพาให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งมีสถาบันชั้นนำระดับสากลที่จัดทำดัชนีความยั่งยืนเพื่อเป็นตัวชี้วัดและประเมินศักยภาพองค์กรทั่วโลกในการดำเนินงานในมิติต่างๆ ของ ESG และเป็นที่น่ายินดีที่ในปี 2566 นี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นองค์กรไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิก FTSE4Good Index Series ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 (2017 – 2023) จาก FTSE Russell บริษัทอิสระประเทศอังกฤษที่มีประสบการณ์จัดทำดัชนีให้แก่ตลาดหลักทรัพย์สำคัญหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งทรู เป็นบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้คะแนนรวมสูงสุดในอันดับต้น จัดอยู่ในกลุ่ม Top ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลก อีกทั้ง มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม (Industry Average) ในทุกมิติของ ESG โดยเฉพาะด้านสังคมที่ได้คะแนนสูงสุด 5 คะแนน (ค่าเฉลี่ย 3) ตามด้วยสิ่งแวดล้อม 3.6 คะแนน (ค่าเฉลี่ย 2) และธรรมาภิบาล 4.5 คะแนน (ค่าเฉลี่ย 4) ทำให้มี ESG Score ภาพรวมอยู่ที่ 4.4 (ค่าเฉลี่ย 3) อันเป็นผลจากความทุ่มเทในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความยั่งยืนอย่างแท้จริง สานต่อโครงการสำคัญต่างๆ  จนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเชื่อมั่นว่า การควบรวมองค์กร ทรู-ดีแทค จะสามารถผสานศักยภาพและจุดแข็งของทั้งสององค์กร เพื่อเร่งขับเคลื่อนบริษัทฯ สู่การเป็น Telecom-Tech Company อย่างเต็มรูปแบบ สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่นักลงทุน พร้อมส่งมอบคุณค่าระยะยาวแก่สังคมและประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต”

ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม สอดคล้องและครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การประเมินใน 14 หมวดหัวข้อที่เข้มข้นของ FTSE Russel ครอบคลุมทุกมิติ ESG ได้แก่

ด้านสังคม 
• ส่งเสริมการศึกษาเยาวชนไทยมากกว่า 34 ล้านคนผ่านโครงการทรูปลูกปัญญา และมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี 
• ส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มเปราะบางมากกว่า 275,000 คน ผ่านโครงการความร่วมมือกับมูลนิธิออทิสติกไทย 

ด้านสิ่งแวดล้อม  
• ดำเนินการติดตั้งโซล่าเซลล์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่เสาสัญญาณและชุมสายสะสม รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 4,712 แห่ง สามารถลดการใช้พลังงานและผลิตไฟฟ้าได้ถึง 31,176 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี อีกทั้งยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 13,905 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ณ สิ้นปี 2565 
• มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ทางตรงและทางอ้อม (Scope 1 และ Scope 2) สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามแนวทาง Science-Based Target Initiative (SBTi) ภายในปี 2593
• ส่งเสริมให้มีการนำขยะ e-Waste จากการดำเนินงานและจากผู้บริโภคไปจัดการอย่างถูกวิธี โดยไม่นำไปฝังกลบ 

ด้านธรรมาภิบาล 
• มุ่งเน้นบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสีย 
• สนับสนุนความเท่าเทียมของพนักงานและคนทุกกลุ่มในสังคม 

กลุ่มดัชนีหลักทรัพย์ FTSE4Good ดำเนินการโดย FTSE Russell (Financial Times Stock Exchange Russell) บริษัทอิสระที่จัดร่วมระหว่าง The Financial Times และ London Stock Exchange ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยปีนี้ มีองค์กรที่ได้รับการประเมินกว่า 7,200 แห่งทั่วโลก มีเกณฑ์พิจารณาตัวบ่งชี้กว่า 300 ด้านของสมาชิก ทั้งในหมวดสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ มาตรการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (Climate Change) ระบบรอยเท้าทางนิเวศ (Environmental Footprint) และระบบห่วงโซ่อุปทานสิ่งแวดล้อม (Environmental Supply Chain) ในหมวดสังคม ได้แก่ โครงการความริเริ่มเพื่อสังคม (Community Initiatives) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) และข้อปฏิบัติในเรื่องแรงงาน (Labor Practices) ในหมวดบรรษัทภิบาล ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร (Corporate Governance) การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และความโปร่งใสในเรื่องภาษี (Tax Transparency) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักลงทุน นักวิเคราะห์ทางการเงิน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการตัดสินใจเพื่อการลงทุน