อีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยความพร้อมสูบส่งน้ำ รองรับความต้องการใช้น้ำและการแก้ปัญหาภัยแล้งพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน โดยการลงทุนวางท่อเพิ่มเติม เป็นหนึ่งแผนการบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออกได้อย่างยั่งยืน สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมเดินแผนป้องกันปัญหาภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 อย่างไม่หยุดยั้ง เพิ่มศักยภาพโครงข่ายท่อส่งน้ำ รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
เป็นระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ ที่อีสท์ วอเตอร์ ทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงใจ ในการพัฒนาและบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2535 ก่อตั้งอีสท์ วอเตอร์ขึ้นเพื่อบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออกจากท่อเดิมที่มีความยาวท่อเพียง 135 กม. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพท่อส่งน้ำสายหลัก จนเป็นท่อส่งน้ำสายหลักที่มีความยาวที่สุดในภาคตะวันออก และจะดำเนินการให้กลับมาเป็น Water Grid ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยอีกครั้งในปลายปี 2566 โดยมีความยาวท่อส่งน้ำสายหลักรวม 526 กม. สามารถสูบส่งน้ำมากกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้งได้รับการจัดสรรน้ำจากกรมชลประทานปริมาณ 410 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้น้ำในปัจจุบันประมาณ 270 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ศักยภาพของท่อส่งน้ำสายหลักยังสามารถผันน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง-ชลบุรี ได้เฉลี่ย 50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และพื้นที่ลุ่มน้ำประแสร์-คลองใหญ่-หนองปลาไหล ผันน้ำได้เฉลี่ย 140 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงสามารถเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกได้เกือบทั้งหมด
ปัญหาภัยแล้งเป็นสิ่งที่อีสท์ วอเตอร์ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการแก้ไขปัญหา ฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกับผู้ใช้น้ำมาได้จนถึงปัจจุบัน โดยวิกฤตภัยแล้งครั้งใหญ่ภาคตะวันออกของประเทศไทยเกิดขึ้น 2 ครั้ง ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังนี้ ในปี 2548 อีสท์ วอเตอร์ ได้วางท่อประแสร์-คลองใหญ่ และท่อบางปะกง-ชลบุรี ในปี 2562 มีการเชื่อมท่ออ่างเก็บน้ำประแสร์ – อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ กับเชื่อมท่ออ่างเก็บน้ำประแสร์ -อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อลดการสูญเสียน้ำจำนวนมากในกรณีที่ผันน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ซึ่งต้องผ่านคลองธรรมชาติ รวมทั้งการนำน้ำจากพื้นที่ข้างเคียงอันได้แก่ น้ำต้นทุนจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด เข้ามาเสริมในพื้นที่ระยอง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ระยองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดค่าการสูญเสียน้ำ และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างมาก
ในปัจจุบันอีสท์ วอเตอร์ได้ลงทุนวางท่อน้ำดิบเพิ่มเติมอีก 2 โครงการหลัก ซึ่งถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ได้แก่
-โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง ในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ความยาวกว่า 60 กิโลเมตร โดยเชื่อมต่อกับท่อส่งน้ำสายหลักเส้นประแสร์-หนองปลาไหลเดิมของอีสท์ วอเตอร์ เพิ่มศักยภาพในการสูบส่งน้ำสู่พื้นที่ชลบุรีเพิ่มขึ้นอีก 120 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยได้รับอนุญาตการวางท่อในเขตทางหลวงพื้นที่ระยองแล้วคงเหลือการอนุญาตการวางท่อในเขตทางหลวงพื้นที่ชลบุรี ทั้งนี้ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 เพื่อให้ทันต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ชลบุรีในปี2567 ซึ่งการก่อสร้างท่อส่งน้ำนี้จะเป็นการสร้างศักยภาพที่สามารถนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังพื้นที่ชลบุรีได้โดยตรง
-โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบคลองหลวง จังหวัดชลบุรี ความยาวกว่า 45 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมายังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ แทนการผันน้ำผ่านคลองพานทองซึ่งมีน้ำสูญเสียจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 90% คงเหลือเฉพาะงานวางท่อส่งน้ำ และติดตั้งระบบสูบน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร โดยเบื้องต้นอีสท์ วอเตอร์ได้ดำเนินการขออนุญาตจากกรมชลประทานในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลใช้งานหลัก ซึ่งกรมชลประทานไม่ขัดข้องให้อีสท์ วอเตอร์ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และให้ดำเนินการขออนุญาตกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ ได้ดำเนินการขออนุญาตต่อกรมธนารักษ์ไปตั้งแต่ปี2564 ปัจจุบันยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตจากกรมธนารักษ์และเมื่อได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ จะได้เร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ชลบุรีในปี 2567 เช่นกัน
ภารกิจในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่อีสท์ วอเตอร์มุ่งมั่น และตั้งปณิธานที่จะทำให้สำเร็จ ซึ่งการวางท่อส่งน้ำสายหลักเพิ่มเติมที่ได้กล่าวมาจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่จะดำเนินการร่วมกัน จึงขอความเห็นใจจากทุกภาคส่วนให้โครงการบรรลุถึงเป้าหมายที่คาดหวังไว้ร่วมกัน นอกจากนี้อีสท์ วอเตอร์ยังมีแผนการแก้ปัญหาภัยแล้งอีกหลายโครงการที่จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น โครงการสูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง, โครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำเอกชน, โครงการบริหารระบบสูบน้ำกลับวัดละหารไร่, โครงการบริหารระบบสูบน้ำกลับคลองสะพาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของแหล่งน้ำต้นทุน และโครงข่ายท่อส่งน้ำ (Water Grid) ของอีสท์ วอเตอร์ มั่นคง และแข็งแกร่งที่สุด ในภาคตะวันออก รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ EEC สร้างการเติบโต และแข็งแกร่งให้แก่พื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืนตลอดไป