บิ๊กตู่ประกาศวางมือทางการเมือง วันนอร์เผยถกเสนอชื่อนายกฯเปิดส.ส.-ส.ว.อภิปรายก่อนล็อกเวลาโหวตห้าโมงเย็น 13 ก.ค. เตรียมนำคำตัดสินศาลรธน.-ผู้ตรวจการแผ่นดินหาทางออก หากไม่ผ่านรอบแรก วอนทุกฝ่ายช่วยกันก่อนพาชาติพัง "อนุทิน"ย้ำยังไม่ถึงเวลาจับขั้วรบ.เดิม ด้านพิธา"ส่งสารถึง "ส.ส.-ส.ว." ขอเสียงหนุน ให้โอกาสรัฐบาลเสียงข้างมาก

  ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ก.ค.66 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงข่าว ต่อสื่อมวลชน โดยก่อนแถลงได้ถอนหายใจเสียงดัง "เฮ้อ" ก่อนเดินไปที่โพเดียม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมถึงถอนหายใจแรงจัง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรหรอก วันนี้ฟ้าแจ่มใสสว่างสวยงาม 
   
  เมื่อถามว่า จะมีอะไรดีๆ ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี ไม่ทราบ ก็บอกแล้วไงเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของกระบวนการและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตนไม่มีความคิดเห็นอะไรในเรื่องนี้ วันนี้เป็นเรื่องของการประชุมครม.ตามปกติ ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีที่มาร่วมประชุมทำให้องค์ประชุมครบถ้วน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทบทวนตรงนั้นตรงนี้และหาวิธีการที่เหมาะสมในการบริหารราชการในฐานะรัฐบาลรักษาการเท่านั้น ก็เป็นไปตามกฎหมาย 
     
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินออกจากโพเดียมขึ้นห้องทำงาน ขณะที่ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงเหตุการณ์สะพานข้ามแยกบนถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบังถล่ม รวมทั้งการตรึงราคาน้ำมันดีเซล พล.อ.ประยุทธ์ โบกมือและกล่าวว่า เดี๋ยวหน่วยงานเขาชี้แจง พร้อมพยักหน้ายอมรับว่าที่ประชุมได้พูดคุยปัญหาปากท้องของประชาชนด้วย เมื่อถามอีกว่า มีความเป็นห่วงกรณี 14 กลุ่ม เตรียมชุมนุมหน้ารัฐสภาวันที่ 13 ก.ค. ในการโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็อย่าไปเสนอข่าวสิ"  
     
ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงผลการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ว่า เรื่องแรกที่เข้าสู่การประชุมในการพิจารณาหารือคือการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ก.ค. และประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13 ก.ค. โดยการประชุมในวันที่ 12 ก.ค. เป็นการประชุมประเด็นที่มีในระเบียบวาระการประชุมสภา โดยทาง 8 พรรคร่วมเห็นว่าสมัยประชุมสมัยแรกซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดวันแรกคือพิธีเปิดสมัยประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.ค. โดยมีระยะเวลา 120 วัน ซึ่งจะไปสิ้นสุดในวันที่ 30 ต.ค. ส่วนสมัยที่สองน่าจะกำหนดเริ่มประมาณวันที่ 12 ธ.ค. อีกแนวคิดเสนอเป็นวันที่ 1 ม.ค. แต่ทางวิปจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ก็ต้องไปพิจารณากัน นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นว่าจะให้เพิ่มวันประชุม จากเดิมที่มีแค่สองวันคือวันพุธและวันพฤหัสบดี โดยจะเพิ่มเป็นวันอังคาร เริ่มเวลา 13.30 น. เนื่องจากในช่วงเช้าจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี
    
 ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13 ก.ค.นั้น เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ทั้ง8 พรรคยืนยันชัดเจนให้ความเห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมมอบหมายให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอชื่อ ดังนั้นตนจะเป็นคนเสนอชื่อนายพิธาต่อที่ประชุมเอง โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะเปิดให้สมาชิกที่มีข้อซักถาม สามารถซักถามคนที่มีชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้
   
  เมื่อถามว่า ที่ประชุมได้พูดคุยถึงวิธีการโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยอมรับว่าในที่ประชุมมีการหารือกัน ในเรื่องวิธีการโหวตนายกรัฐมนตรี โดยให้ส.ส. 500 คน โหวตก่อน และให้ 250 ส.ว.โหวตต่อ แต่เห็นว่าหากเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเรื่องนี้ ที่ประชุมเห็นว่าอาจจะทำให้บรรยากาศของการประชุมในวันดังกล่าวสร้างบรรยากาศที่ติดขัด สร้างความระแวงสงสัย จึงสรุปว่า อะไรที่จะทำให้บรรยากาศที่ประชุมไม่ดี เราจะหลีกเลี่ยง และยืนยันที่จะทำตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในการโหวต โดยให้สมาชิกรัฐสภาโหวตเรียงตามอักษร 
  
   เมื่อถามว่า ที่ประชุมมีการสอบถามเรื่องเสียงสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีจากส.ว.หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีการสอบถามกัน ซึ่งทาง นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ตอบในมุมที่อยู่บนพื้นฐานความพยายามที่จะประสาน และหาเสียงสนับสนุนให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้ระบุว่ามีจำนวนเท่าใด  เมื่อถามต่อว่า หากฟังจากสิ่งที่นายชัยธวัชชี้แจง แสดงว่ายังได้เสียงสนับสนุนจากส.ว.ไม่ครบเท่าจำนวนที่ต้องการใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้รับคำตอบจากนายชัยธวัช ซึ่งเราได้ถามในที่ประชุมไป นายชัยธวัชก็บอกว่าพยายาม ส่วนจะครบหรือไม่ครบนั้น นายชัยธวัชไม่ได้ยืนยันเป็นตัวเลข 
   
  เมื่อถามว่า หากในการโหวตครั้งแรกนายพิธาไม่ผ่าน จะมีการปรับแผนหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีการหารือกัน เอาข้อเท็จจริงให้ปรากฏก่อน เมื่อถามย้ำว่า มีการคุยกันหรือไม่ว่าจะเสนอชื่อนายพิธากี่รอบ และเมื่อไม่ได้แล้ว จึงจะเปลี่ยนให้ทางพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้นเอาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.เป็นตัวหลักก่อน เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าเสียงจะปริ่ม นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้คิด เราก็ตั้งใจให้ผ่าน เพราะมติของเราทั้ง 8 พรรคร่วม เว้นประธานรัฐสภา จะต้องลงคะแนนให้ทั้งหมด ทั้งนี้ ย้ำว่าเราตั้งใจจะให้ผ่านโดยจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดทั้งก่อนลงมติและขณะลงมติ
    
 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตอบข้อสักถามผู้สื่อข่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.หรือไม่ ว่า ไม่ได้พูดอะไร เมื่อถามต่อว่า ได้มองข้ามช็อตพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะกลับมาจับมือกันอีกรอบหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดถึงตรงนั้น ยังไม่ถึงเวลา วันนี้ฝั่งรัฐบาลเดิมไม่ได้เคลื่อนไหวในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อถามว่า ได้มีการตั้งวิปประสานฝั่งรัฐบาลเดิมแล้วหรือยัง นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่มี เมื่อถามว่า ก่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรี จะมีการประชุมพรรคร่วมเพื่อหารือถึงทิศทางการโหวตหรือไม่ นายอนุทิน กล่าว ยังไม่ได้มีการนัดกัน ถามต่อว่า จะปล่อยให้แต่ละพรรคโหวตกันไปใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ใช่
   
  วันเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทวิตคลิปวิดีโอ ผ่านทวิตเตอร์ Pita Limjaroenrat โดยระบุข้อความตอนหนึ่งว่า สวัสดีประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศทุกท่าน 14 พ.ค.66 เป็นวันที่เจตจำนงของประชาชนคนไทย แสดงออกชัดเจนผ่านบัตรเลือกตั้ง เลือกพรรคก้าวไกลมากถึง 14,438,851 เสียง ส่งให้เรากลายเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร มีผู้แทนราษฎรถึง 152 คน นี่คือเสียงที่ดังพร้อมกันทั้งประเทศ ว่าทุกท่านต้องการประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม
    
 ผมและพรรคก้าวไกล ได้น้อมรับมติจากประชาชนเดินหน้าจะตั้งรัฐบาล เราได้รวบรวมพรรคการเมือง 8 พรรค หรือ 72% ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง การเมืองปกติพวกเรา รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกล คงได้เข้าบริหารประเทศ แก้ปัญหาประชาชนได้แล้ว แต่วันนี้หลังสองเดือน หลังการเลือกตั้ง การโหวตนายกรัฐมนตรีเพิ่งจะมาถึง เรายังต้องรอการตัดสินใจของส.ว.ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนหรือไม่
    
 วันนี้ชัดเจนว่าประเทศไทยอยู่ในการเมืองที่ไม่ปกติ อำนาจที่เป็นตัวแทนของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ถูกล้มล้างครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยการรัฐประหาร นิติกรรมสงคราม และการยุบพรรค ความไม่ปกตินี้เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งวันนี้ยังคงอยู่กับเราอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่นี่คือโอกาสของประเทศไทย ที่พวกเราคืนความปกติกลับสู่ การเมืองไทยอีกครั้ง
    
 ให้ประเทศไทยกลับมามีรัฐบาลที่ชอบธรรม เดินหน้าซ่อมแซมแก้ไขประเทศไทย ตามที่ประชาชนคาดหวัง ให้โอกาสประเทศไทย กลับสู่ครรลองการเมืองของรัฐสภา ที่ประชาชนเชื่อมั่น และฝากความหวังไว้ได้ มีโอกาสประเทศไทยได้เดินหน้า สู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ค่าแรงที่เป็นธรรม สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวหน้าและเป็นธรรม มีนวัตกรรมที่ก้าวหน้าของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่เห็นคนเท่ากัน
    
 โดยมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่กดปราบลิดรอนสิทธิประชาชน การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค. ไม่ใช่การเลือกพิธา ไม่ใช่การเลือกพรรคก้าวไกล แต่คือการเลือกเพื่อยืนยันว่าประเทศไทย ต้องเดินหน้าตามระบอบประชาธิปไตยแบบปกติ เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก คือการเลือกเพื่อยืนยันว่า แม้เราจะยังอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการเมืองที่ไม่ปกติ
   
  แต่สมาชิกรัฐสภาทุกคนสามารถร่วมกันใช้เสียงของตัวเอง สานต่อเจตนารมณ์ที่ประชาชนแสดงออกมาผ่านการเลือกตั้งให้ลุล่วง จัดตั้งรัฐบาลที่เป็นตัวแทนเสียงข้างมากให้สำเร็จ ภารกิจนี้คือภารกิจร่วมกันของเราทุกคนในฐานะสมาชิกรัฐสภา ผู้ถืออำนาจแทนประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
   
  ในโอกาสนี้ ผมขอสื่อสารไปถึงส.ส.และส.ว. ทุกท่าน ท่านอาจไม่ชอบแนวทางการเมืองของพวกเรา ในระบบการเมืองปกติพวกท่านตรวจสอบผมได้ โจมตีผมได้ โหวตผมออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยังทำได้ แต่การโหวตให้รัฐบาลเสียงข้างมากคือการให้โอกาสประเทศไทยเดินหน้าในแบบที่ควรจะเป็น
    
 ผมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศ ที่โอบรับความฝันอันหลากหลายของทุกคนได้  หากนี่คือสิ่งที่ท่านอยากเห็นให้โอกาสประเทศไทยได้เดินไปข้างหน้า โดยการบริหารของรัฐบาลพรรคร่วมทั้ง 8 พรรค ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 
   
  ที่รัฐสภา แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ร่วมประชุมความคืบหน้าจัดตั้งรัฐบาล นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยหัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคร่วม  เพื่อหารือถึงการเตรียมความพร้อมในการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำไปแจ้งต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานสภา เป็นประธาน, วิปวุฒิ และตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งจะมีการประชุมในเวลา 11.00 น.
   
  นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมถึงกรณีจะมีการพูดคุยถึงคุณสมบัติของนายพิธา ว่า วันนี้เป็นการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคแกนนำหลักคงจะเอาเรื่องเข้ามาหารือว่าจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะจากวันนี้ไป วันที่ 13 ก.ค.จะเข้าหารือเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีแล้ว และตนคิดว่าวันนี้จะมาหารือถึงสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไร ว่านายพิธาสามารถเตรียมความพร้อมได้แค่ไหน และพรรคร่วมจะทำอะไรได้บ้าง เพราะที่ผ่านมานายพิธาบอกว่ามั่นใจ ฉะนั้นเราจึงอยากจะหารือกันว่าที่มั่นใจนั้นเราจะช่วยอะไรได้บ้าง และเราจะช่วยเท่าที่สุดความสามารถของเรา 
    
 เมื่อถามว่า จะมีแผนสำรองหรือไม่ เพราะกรณีที่เกิดขึ้นมีความไม่แน่นอน นายภูมิธรรม กล่าวว่า แผนเดียว อย่างไรก็ต้องให้นายพิธาเข้ามามีการพิจารณากัน และอย่างไรก็ตามเราก็จะผลักดันนายพิธาอย่างสุดความสามารถ เมื่อถามย้ำว่า ต้องเลือกถึงกี่ครั้ง นายภูมิธรรม กล่าวว่า สุดความสามารถ เมื่อถามว่า แต่ทางส.ว.ระบุถ้าเป็นทางพรรคก้าวไกลจะไม่โหวต แต่หากเป็นพรรคเพื่อไทยโดยไม่มีพรรคก้าวไกลส.ว.จะยอมโหวต นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ความเป็นจริง เดี๋ยวรอดูว่าผลโหวตจะเป็นอย่างไรก่อน 
     
เมื่อถามถึงกรณีวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ออกมาเตือนพรรคร่วม ว่า ถ้าเลือกคนที่ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็เสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคเอง นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขอดูรายละเอียดก่อน ตอนนี้มีแต่ ถ้า ทั้งนั้น และถ้าก็เป็นความนึกเห็นของแต่ละท่าน เราก็จะรับฟังเอามาพิจารณา ทุกสิ่งมีความหมายหมด 
     
ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ประชุมหารือร่วมกับตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา และตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการจัดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี