เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่พรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พรรค พปชร. แถลงภายหลังการประชุมพรรค ว่า ทาง พปชร. มีการประชุมพรรค โดยมีหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ ส.ส. และทุกฝ่ายเข้าร่วม โดยสาระสำคัญ ได้แก่ 1.การเลือกผู้แทน ซึ่งเป็น ส.ส.ของ พปชร.ในการทำหน้าที่ประสานกับพรรคอื่นๆ ซึ่งเวลานี้ยังไม่รู้ว่าพรรคเราอยู่ในสถานะใด โดยผู้ทำหน้าที่ประสานดังกล่าว มีตน เป็นประธาน นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร เป็นรองประธานคนที่ 1 นายอรรถกร ศิริลัทยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา รองประธานคนที่ 2 ประเด็นที่สอง พปชร.มีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่เสนอผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯโดยใช้เสียงข้างน้อยอย่างเด็ดขาด และ 3.เราจะไม่โหวตให้กับผู้ที่จะมาดำรงนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่าถ้าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล พปชร.จะไม่โหวตให้ใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ว่าท่านใดก็ตามที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับแก้ไขมาตรา 112 เมื่อถามว่า ได้มีการเตรียมไว้หรือไม่ หากไม่สามารถโหวตนายพิธาเป็นนายกฯได้ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เนื่องจาก พปชร. ในการเลือกคั้งครั้งนี้ เราเป็นพรรคที่มี ส.ส.อยู่ลำดับที่ 4 ดังนั้น ขั้นตอนต่อไป หากเกิดอะไรก็ตามขึ้นเราต้องให้พรรคที่มีเสียงรองลงมาในการจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อถามว่า หากพรรคที่มีเสียงรองลงมา มาติดต่อ พปชร.ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีพรรคก้าวไกล ก็สามารถที่จะทำงานด้วยกันได้ใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.อีกครั้งเพื่อขอมติพรรค เมื่อถามว่า ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทย พปชร.จะโหวตให้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า อย่างที่เราพูดมาตลอดไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตามหากมีนโยบายชัดเจน ไม่แตะมาตรา112 พรรคเราก็มีนโยบายชัดเจนว่าก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่ยกเว้นในเรื่องการแก้มมาตรา 112 เท่านั้น
เมื่อถามว่า จากประสบการณ์ทางการเมือง การโหวตนายพิธาในวันที่ 13 ก.ค.จะผ่านหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่าต้องไปดูเสียงส่วนใหญ่ในสภา เพราะเสียงในสภามี 750 เสียง ไม่ใช่ 500 เสียง เมื่อถามว่า ในวันที่ 13 ก.ค. จะมีมวลชนมากดดันด้วย ห่วงหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จากประสบการณ์ทางการเมืองเรื่องของรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. 750 คน ที่จะลงฉันทามติในเสียงของเขาว่าจะเลือกใคร ดังนั้น จะให้ได้ดังใจมันคงเป็นไปไม่ได้ มันต้องยึดตามหลักกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราเคารพเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา เมื่อถามว่า มวลชนที่มากดดันหากมีความวุ่นวายจะดำเนินการอย่างไรร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนเชื่อว่าใช้เวลาในการแก้ปัญหา เป็นเรื่องปกติที่เอฟซีตัวเองจะผิดหวัง แต่ทุกอย่างจะลงเอยด้วยดี ซึ่งต้องใช้เวลา
เมื่อถามว่า เป็นห่วงม็อบหน้าสภาวันที่ 13 ก.ค.หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีม็อบ แต่การชุมนุมถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเราคงจะไปห้ามประชาชนไม่ได้ เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงต้องดูดีๆ จะไปใช้ความรุนแรงไม่ได้เด็ดขาด เขามาแสดงจุดยืนของเขา เราต้องฟังความเห็นของเขาด้วยซึ่ง พล.อ.ประวิตร ซึ่งดูกำกับดูแลฝ่ายความมั่นคงเน้นย้ำว่าห้ามใช้ความรุนแรงกับประชาชนเด็ดขาด
เมื่อถามว่า ควรที่จะโหวตนายกฯให้จบภายในครั้งเดียวใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นกลไกของรัฐสภา ส่วนตัวก็อยากให้จบในทีเดียว แต่เมื่อไม่จบก็ต้องให้เวลา เช่นเดียวกันทุกอย่างต้องใช้เวลา
เมื่อถามย้ำว่า ในการโหวตนายกฯครั้งที่ 2 ควรที่จะมีเงื่อนไขมากกว่าครั้งแรกหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่าสมมุติว่าครั้งแรกไม่ผ่านก็ต้องให้โอกาสพรรคอันดับสองในการรวบรวมพรรคร่วม ถ้าพรรคอันดับสองไม่ผ่านก็ให้พรรคอันดับสาม ฉะนั้น เราจะไม่มีการแทรกแซงเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นนโยบายของหัวหน้าพรรค พปชร. และคณะกรรมการบริหารพรรคที่เรามีฉันทามติเป็นอย่างนี้
เมื่อถามว่า หากครั้งแรกนายพิธาโหวตไม่ผ่าน ไม่ควรมีชื่อครั้งที่ 2 แล้วใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่าตนหมายความว่าหากที่สุดแล้ว พรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งไม่ผ่านก็ให้พรรคอันดับสองไปจัดการ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าเรื่องนี้มีข้อบังคับของรัฐสภาอยู่
เมื่อถามว่า ถ้าพรรคอันดับสองมีปัญหา จะตกมาที่พรรคอันดับสามและพรรคอันดับสี่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า มันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น
เมื่อถามว่า แสดงว่า พล.อ.ประวิตรก็มีโอกาสที่จะชิงนายกฯเช่นเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เราอย่าไปพูดอย่างนั้น เอาประเด็นอันดับหนึ่งผ่านหรือไม่ผ่านก่อน และจะเป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยดำเนินการต่อไป
เมื่อถามว่า ในการโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน จะเสนอชื่อซ้ำในรอบสองได้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่าเป็นเรื่องของประธานรัฐสภา ซึ่งมีกฎหมายอยู่ เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่จะไปคุยกัน วันนี้ในที่ประชุมก็มีการเอาประเด็นนี้มาพูดคุยกัน โดยวันที่ 12 ก.ค.คงจะมีชัดเจนมากขึ้น
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ พปชร.จะร่วมมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศวางมือทางการเมืองแล้ว ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พปชร.มีนโยบายชัดเจนว่าเราจะอยู่ของเรา เราจะไม่ไปก้าวก่ายกิจกรรมหรือกิจการของพรรคอื่นเด็ดขาด เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศวางมือทางการเมือง ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เรื่องนี้ท่านคงคิดละเอียดแล้ว
เมื่อถามว่า การโหวตนายกฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรค เราไม่ก้าวก่าย และจนถึงขนาดนี้ยังไม่มีการพูดคุยกัน
เมื่อถามว่าพปชร.จะให้ฟรีโหวตหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ฟรีโหวต แต่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด เมื่อถามว่า กรณีของนายพิธา พปชร.จะใช้วิธีงดออกเสียง หรือไม่ลงคะแนนเลย ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จะรอดูหน้างานก่อน แต่น่าจะงดเหมือน ส.ว.
เมื่อถามว่า หัวหน้าพรรคได้เน้นย้ำอะไรหรือไม่ในเรื่องของการโหวต ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นนโยบายชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่จะเสนอแก้มาตรา 112 ส่วนจะงดหรือปฏิเสธค่อยว่ากันอีกที ซึ่งมติที่ประชุมให้ฟังตน อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้แต่ละพรรคได้อภิปรายพรรคละ 20 นาทีโดยพรรคพลังประชารัฐได้มอบหมายให้นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เป็นผู้อภิปราย ซึ่งนายสัมพันธ์เป็น ส.สในภาคใต้ก็จะเน้นเนื้อหาในส่วนเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน