เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 11 ก.ค. 66 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงผลการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ว่า เรื่องแรกที่เข้าสู่การประชุมในการพิจารณาหารือ คือการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 12 ก.ค. และประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13 ก.ค. โดยการประชุมในวันที่ 12 ก.ค. เป็นการประชุมประเด็นที่มีในระเบียบวาระการประชุมสภา โดยทาง 8 พรรคร่วมเห็นว่าสมัยประชุมสมัยแรกซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดวันแรกคือ พิธีเปิดสมัยประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.ค. โดยมีระยะเวลา 120 วัน ซึ่งจะไปสิ้นสุดในวันที่ 30 ต.ค. ส่วนสมัยที่สองน่าจะกำหนดเริ่มประมาณวันที่ 12 ธ.ค. อีกแนวคิดเสนอเป็นวันที่ 1 ม.ค. แต่ทางวิปจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ก็ต้องไปพิจารณากัน นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นว่าจะให้เพิ่มวันประชุม จากเดิมที่มีแค่สองวันคือวันพุธและวันพฤหัสบดี โดยจะเพิ่มเป็นวันอังคาร เริ่มเวลา 13.30 น. เนื่องจากในช่วงเช้าจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 13 ก.ค.นั้น เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ทั้ง8 พรรคยืนยันชัดเจนให้ ความเห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมมอบหมายให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอชื่อ ดังนั้น ตนจะเป็นคนเสนอชื่อนายพิธาต่อที่ประชุมเอง โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะเปิดให้สมาชิกที่มีข้อซักถาม สามารถซักถามคนที่มีชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้

เมื่อถามว่า ที่ประชุมได้พูดคุยถึงวิธีการโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยอมรับว่าในที่ประชุมมีการหารือกัน ในเรื่องวิธีการโหวตนายกรัฐมนตรี โดยให้ ส.ส. 500 คนโหวตก่อน และให้ 250 ส.ว.โหวตต่อ แต่เห็นว่าหากเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเรื่องนี้ ที่ประชุมเห็นว่าอาจจะทำให้บรรยากาศของการประชุมในวันดังกล่าวสร้างบรรยากาศที่ติดขัด สร้างความระแวงสงสัย จึงสรุปว่า อะไรที่จะทำให้บรรยากาศที่ประชุมไม่ดี เราจะหลีกเลี่ยง และยืนยันที่จะทำตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในการโหวต โดยให้สมาชิกรัฐสภาโหวตเรียงตามอักษร 

เมื่อถามว่า ที่ประชุมมีการสอบถามเรื่องเสียงสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี จากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือไม่นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีการสอบถามกัน ซึ่งทางนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ตอบในมุมที่อยู่บนพื้นฐานความพยายามที่จะประสาน และหาเสียงสนับสนุนให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้ระบุว่ามีจำนวนเท่าใด 

เมื่อถามต่อว่า หากฟังจากสิ่งที่นายชัยธวัชชี้แจง แสดงว่ายังได้เสียงสนับสนุนจากส.ว.ไม่ครบเท่าจำนวนที่ต้องการใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้รับคำตอบจากนายชัยธวัช ซึ่งเราได้ถามในที่ประชุมไป นายชัยธวัชก็บอกว่าพยายาม ส่วนจะครบหรือไม่ครบนั้น นายชัยธวัชไม่ได้ยืนยันเป็นตัวเลข 

เมื่อถามว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงการรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะมาติดตามสถานการณ์การโหวตนายกรัฐมนตรี หากวันที่ 13 ก.ค.ไม่สามารถโหวตได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้ในที่ประชุมไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุย เพียงแต่มีเรื่องแจ้งให้ทราบว่าในวันดังกล่าว ทางรัฐสภาจะเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนเข้ามาร่วมฟังการประชุมโดยจะมีการจัดสถานที่ให้ ซึ่งจะใช้ฝั่งวัดแก้วฟ้าจุฬามณีเป็นหลัก ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นอาจจะขออนุญาตปิดถนนทหาร ให้เป็นที่อยู่ของประชาชน โดยยึดตรงนั้นเป็นหลัก ไม่อยากให้เข้ามาบริเวณอาคารรัฐสภา เพราะมีหลายกลุ่ม

เมื่อถามถึงกรณีที่ถูกหลายฝ่ายมองว่า ยิ่งมีคนมาชุมนุมยิ่งเป็นการกดดันส.ว.หรือส.ส. ที่ยังไม่แสดงความเห็นด้วยทางพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการคุยกับพรรคก้าวไกล ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้ยกขึ้นมาเป็นประเด็น เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมายก็เป็นไปโดยสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าเขาจะมาเท่าไหร่ เราก็จะอำนวยเรื่องสถานที่ ทั้งนี้ หากอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ตนคิดว่าสามารถทำได้ ไม่ถือว่าเป็นการกดดันใดๆ 

เมื่อถามว่า หากในการโหวตครั้งแรกนายพิธาไม่ผ่าน จะมีการปรับแผนหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีการหารือกัน เอาข้อเท็จจริงให้ปรากฏก่อน เมื่อถามย้ำว่า มีการคุยกันหรือไม่ ว่าจะเสนอชื่อนายพิธากี่รอบ และเมื่อไม่ได้แล้ว จึงจะเปลี่ยนให้ทางพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้นเอาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.เป็นตัวหลักก่อน

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าเสียงจะปริ่ม นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้คิด เราก็ตั้งใจให้ผ่าน เพราะมติของเราทั้ง 8 พรรคร่วม เว้นประธานรัฐสภา จะต้องลงคะแนนให้ทั้งหมด ทั้งนี้ ย้ำว่าเราตั้งใจจะให้ผ่านโดยจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดทั้งก่อนลงมติและขณะลงมติ