วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบังลงพื้นที่มายังจุดเกิดเพื่อร่วมประเมินวางแผนการเคลื่อนย้ายโครงสร้างร่วมกับเจ้าหน้าที่วิศวกร
นายณรงค์ กล่าวว่า จากเหตุวานนี้ ผู้ว่าฯกทม.ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสิ่งที่ต้องเร่งรัดคือการเร่งรื้อโครงสร้างที่เกิดความเสียหายที่ไปกระทบกับการจราจรและเกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในพื้นที่ ล่าสุด ได้วางแผนการรื้อย้ายโครงสร้างกับสำนักการโยธา และบริษัทผู้รับเหมา ซึ่งอันดับแรกจะเร่งเคลียร์พื้นที่ในส่วนที่กีดขวางการจราจร เพื่อให้เปิดใช้งานได้เร็วที่สุด ส่วนที่เหลืออื่นๆ เป็นแผนการดำเนินการต่อจากนี้ ว่าจะมีการซ่อมแซมแก้ไขต่อไปอย่างไร
ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมเครื่องจักรเป็นรถเครนขนาด 200 ตัน และ 50 ตัน เพื่อจะมาช่วยในการยกพยุงตัวโครงสร้าง และตัดชิ้นส่วนที่เสียสภาพเพื่อทำการเคลื่อนย้ายออกไป ซึ่งการตัดชิ้นส่วนเป็นเพราะโครงสร้างมีขนาดใหญ่ ประกอบกันขึ้นมา ทำให้มีความยาวและน้ำหนักมาก ยากต่อการเคลื่อนย้ายในการแบ่งออกเป็นชิ้นนั้น จะใช้วิธีการถอดน็อตตามโครงสร้างที่ประกอบไว้ แต่หากส่วนไหนถอดไม่ได้หรือถอดยาก จะใช้แก๊สเป่าให้ขาด ซึ่งระหว่างการถอดแบ่งชิ้นส่วนต้องใช้เครนขนาดใหญ่ยกถ่วง และใช้เครนตัวเล็กพยุงไว้ให้ทำงานได้ปลอดภัย ส่วนอุปสรรคสำคัญคือเรื่องสภาพพื้นที่ที่มีจำกัด ทำให้การทำงานอาจไม่คล่องตัวเท่าที่ควร และต้องระมัดระวังในจุดที่อยู่ใกล้กับปั๊มน้ำมัน โดยต้องมีการวัดแก๊สตลอดเวลา ซึ่งจากกการประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 วันจะสามารถเคลียร์พื้นที่ส่วนที่กีดขวางการจราจรได้ทั้งหมด
สำหรับสาเหตุของเหตุการณ์ในครั้งนี้ ยังต้องรอการวิเคราะห์ข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน โดยวันนี้จะนำโดรนขึ้นไปถ่ายภาพมุมสูงเพิ่มเติม เพื่อนำมาวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของโครงสร้างร่วมกับภาพที่ได้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งระงับการก่อสร้างโครงการดังกล่าวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา จนกว่าจะสามารถหาแนวทางการแก้ไขได้อย่างปลอดภัยถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ได้สั่งการให้บริษัทผู้รับเหมาโครงการจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากพื้นที่มาให้พิจารณา โดย มีวสท.ร่วมพิจารณาด้วย ส่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันทีคือการขนรื้อสิ่งปลูกสร้างเล็กๆที่ไม่ใช่เครื่องมือใหญ่ๆที่มีน้ำหนักมากออกจากพื้นที่ รวมทั้งให้โดรนบินเหนือที่เกิดเหตุเพื่อสังเกตุการณ์หาสาเหตุ
"เหตุที่เกิดที่ลาดกระบังครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุใหญ่ที่สุดตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง เหตุที่เกิดที่พระราม2กลายเป็นเด็กไปเลย" รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวและว่าสำหรับงานก่อสร้างโครงการนี้ตามสัญญาจะต้องแล้วเสร็จในต้นเดือนส.ค.นี้ แต่ได้รับการขยายสัญญางานเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการ์ณโควิดไปจนถึงธ.ค.67 ปัจจุบันโครงการมีความคืบหน้าไม่เกิน50%
ขณะที่นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุที่บริเวณใกล้ที่เกิดเหตุ หน้าโลตัสแล้ว ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตลาดกระบัง สำนักโยธากทม. ตำรวจ โรงพยาบาล และมูลนิธิต่างๆ พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สอบถามอาคารตึกแถวบ้านเรือนที่อาจได้รับผลกระทบ ทราบเบื้องต้นมีหลังเดียว เป็นตึก 3 ชั้น ได้รับผลกระทบบริเวณหลังคาที่โดนเครนกระทบ นอกจากนี้ยังให้เป็นที่รับแจ้งบุคคลสูญหาย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งบุคคลสูญหายแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องเส้นทางการจราจร ได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสน. จรเข้น้อยเพื่อแก้ไขปัญหา เนื่องจากต้องมีการปิดการจราจรบางส่วนทั้งฝั่งขาเข้าขาออก โดยฝั่งขาเข้ามีการเปิดซอยทางลัดที่ซอยหลวงแพ่ง 6 และซอยหลวงแพ่ง 8 ไปออกที่ซอยหลวงแพ่ง 4 ส่วนขาออกมีซอยทางเชื่อมบริเวณตรงข้ามจุดเกิดเหตุ ซึ่งการจราจร ตั้งแต่เมื่อช่วงเช้ายังไม่มีปัญหา