เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ ร.ศ.112 กองทัพเรือได้จัดงาน “วันรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112” ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ระหว่างเวลา 10.00 – 18.00 น. โดยมีกำหนดการที่สำคัญดังนี้
เวลา 09.00 น. พิธีวางพานพุ่มสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า จากหน่วยงานต่างๆทั้งในกองทัพเรือและนอกกองทัพเรือ
เวลา 10.00 น. พิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศของผู้บัญชาการทหารเรือ พิธีวางพานพุ่มถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีวางพวงมาลา ณ ปืนเสือหมอบ การยิงปืนเสือหมอบ พิธีกล่าวสดุดีวีรชนในเหตุการณ์ ร.ศ 112
เวลา 11.00 น. พิธีสงฆ์
เวลา 13.30 น. การเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ 130 ปี วิกฤตการณ์ร.ศ 112 โดยมีวิทยากรเข้าร่วมงานเสวนา ประกอบด้วย 1)Stig Vagt-Andersen 2) อ.สมชาย ชัยประดิษฐรักษ์ 3) ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ (ดำเนินการ อภิปราย) 4) นายสงวน รัถการโกวิท พิธีกรรายการ พล.ร.ต กฤษฎิ์ กีรติบุตร พล.ร.ต หญิง อารยา อัมระปาล (ล่าม แปล คำบรรยาย Mr Stig ผ่าน หูฟัง)
เวลา 16.00 น. กิจกรรมชมปืนเสือหมอบ
เวลา 18.00 พิธีรำลึก 130 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112
ในโอกาสนี้ กองทัพเรือขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ รวมทั้งวีรกรรมอันหาญกล้าของบรรพชนทหารเรือ ในวันเวลา และสถานที่ดังกล่าว โดยภายในอาณาบริเวณของอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ประกอบด้วยสถานที่เหมาะแก่การศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมปืนเสือหมอบ พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง ลานจัดแสดงอาวุธกลางแจ้ง และ เส้นทางชมป่าชายเลนอันร่มรื่นและแวดล้อมด้วยสัตว์ประจำถิ่นนานาชนิด
บทความ : ร.ศ.112 วิกฤตการณ์สยาม เสียทรัพย์และดินแดน เพื่อแลกอิสรภาพความเป็นไทย
“...ว่าตามจริงแล้ว ฉันมิได้อาลัยด้วยชีวิตแลทรัพย์ ถ้าตายเสียจะเป็นการกระทำให้ราชการเดินสะดวกแล้วก็เต็มใจ เป็นความสัตย์จริงดังนี้ แต่ครั้นจะฆ่าตัวตายในอันใช่กาลก็ไม่ควร จึงนอนขึงอยู่ดังนี้...”
ข้อความข้างตนเป็นตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่ทรงมีถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งทรงพระประชวรหนักอันเนื่องจากความกังวลพระทัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ ร.ศ. 112 และซ้ำกระทบกระเทือนพระราชหฤทัยจากการที่ทรงได้ยินได้ฟังเรื่องราวบางประการ
วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่คนไทยพึงเรียนรู้ เพื่อเตือนใจลูกหลานไทยให้ตระหนักว่า ครั้งหนึ่งผืนแผ่นดินไทยได้ประสบกับภัยสงครามอันน่าพรั่นพรึง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จวบจนต้นรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยต้องประสบกับภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตกเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเฉพาะกับประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี จึงทรงเร่งรัดให้เตรียมการรักษาพระนครอย่างเร่งด่วน เช่น การสร้างป้อมที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า เพื่อเป็นด่านแรกที่จะยับยั้งข้าศึกที่จะเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงพระราชดำริว่า “ถ้าศัตรูหลุดพ้นปากน้ำขึ้นไปได้แล้ว การป้องกันทั้งปวงเห็นเป็นอันยากยิ่งนัก ยังไม่มีความเชื่อถือในกำลังที่จะป้องกันภายในทั้งทางบกทางเรือเลย”
ในปี 2421 จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หลวงชลยุทธโยธิน (ชาวเดนมาร์ก) อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการทหารมะรีน (นาวิกโยธิน) ออกแบบเขียนผังป้อมตามแบบป้อมทันสมัยของตะวันตก และเริ่มสร้างเมื่อปี 2427 โดยใช้เงินรายได้แผ่นดิน ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะประเทศเร่งพัฒนาหลายด้านพร้อมกัน และต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก พระองค์จึงได้พระราชทานเงินจำนวน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท) ดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า
“…ฉันได้ตั้งไว้ว่าจะให้หมื่นชั่ง เมื่อเงินเหลือจากทำการก่อสร้างจะได้ใช้ซื้อสตราวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ สำหรับป้อมนั้น ให้บริบูรร์ ขอให้ท่านเสนาบดีทั้วงปวงในที่ประชุมได้กะการ พร้อมด้วยพระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์แลพระยาชลยุทธโยธิน ให้ได้ลงมือทำงานและสั่งของโดยเร็ววันที่สุด ที่จะทำได้เพราะตัวเงินนี้มีพร้อมอยู่ที่จะจ่ายได้เมื่อใดทุกเมื่อ”
ต่อมาป้อมปืนแห่งใหม่ของสยามได้สร้างเรียบร้อยในต้นปี พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อเสด็จทอดพระเนตรป้อม ในวันที่ 10 เมษายน 2436 และได้ทรงพระราชทานนามป้อมปืนแห่งนี้ว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ซึ่งต่อมาพระองค์ได้มีพระราชดำริให้สั่งซื้อปืนใหญ่อาร์มสตรอง ขนาดปากลำกล้อง 6 นิ้ว จำนวน 7 กระบอก จากบริษัท เซอร์ ดับบลิว จี อาร์มสตรอง จำกัด มาติดตั้ง ปืนใหญ่ทั้ง 7 กระบอกอยู่ในหลุมปืน จัดเป็นปืนใหญ่บรรจุท้ายชุดแรก ที่กองทัพเรือไทยเป็นเจ้าของปืน กระสุนหนักนัดละเกือบ 50 กิโลกรัม มีระยะยิงไกลสุด 8,042 เมตร มีพลเรือโท พระยาวิจิตรนาวี ผู้ควบคุมการติดตั้งปืนใหญ่ประจำป้อม และร้อยเอก ฟอน โฮลต์ เป็นครูสอนวิชาปืนใหญ่ และเป็นผู้บังคับการป้อมคนแรก ปืนดังกล่าวนี้ คราวจะยิงยิงต้องใช้แรงน้ำมันอัดยกปืนให้โผล่พื้นหลุม และเมื่อยิงกระสุนพ้นลำกล้องไปแล้ว ปืนจะลดตัวลงมาอยู่ในหลุมตามเดิม คนไทยจึงเรียกว่าว่า “ปืนเสือหมอบ”
นอกจากนี้พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยบ้านเมืองเหลือคณานับ ซึ่งปรากฏชัดเจนในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า “...ฉันรู้ตัวชัดอยู่ว่า ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สุดสิ้นไปเมื่อใด ชีวิตฉันก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น...”
หลังจากนั้น เหตุการณ์ก็เป็นไปดังที่พระองค์ทรงคาดไว้ทุกประการ กล่าวคือ เมื่อไทยไม่ยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง ในวันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสจึงนำเรือรบสองลำ ชื่อเรือโกแมต และเรือแองคองสตังค์ มุ่งหน้าเข้ามาที่กรุงเทพพระมหานคร เพื่อสมทบกับเรือลูแตงที่เข้ามาจอดอยู่ก่อนหน้า รัฐบาลไทยเห็นว่าฝรั่งเศสล่วงละเมิดสิทธิแห่งสนธิสัญญาปีคริสต์ศักราช 1856 รัฐบาลไทยจึงยอมไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการเป็นข้อปฏิบัติขั้นเด็ดขาดว่า “หากเรือของฝรั่งเศสล่วงล้ำปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา ให้ฝ่ายไทยเริ่มยิงปืนใหญ่เตือนด้วยกระสุนดินเปล่า ตามแนวปฏิบัติของสากล และหากยังไม่เชื่อฟังจะยิงด้วยกระสุนที่บรรจุดินปืนต่อไป”
จากนั้นเรือโกแมต และเรือแองคองสตังค์ได้มาถึงปากน้ำเจ้าพระยา ขณะนั้นฝ่ายไทยมีเรือมกุฎราชกุมาร เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือนฤเบนทร์บุตรี เรือหาญหักศัตรู และเรือทูลกระหม่อม จอดระวังการณ์อยู่ที่แนวป้องกัน พร้อมทั้งมีทหารประจำการอยู่ในป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร แม้ว่าผู้แทนฝ่ายไทย ได้ขึ้นไปเจรจากับผู้บังคับการบนเรือรบฝรั่งเศส แต่ก็ไร้ผล เพราะเรือฝรั่งเศสยังคงแล่นผ่านสันดอนปากน้ำเข้ามาโดยมีเรือ เจ เบ เซย์ เป็นเรือนำร่อง การต่อสู้ระหว่างไทยและฝรั่งเศสที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาจึงอุบัติขึ้น
เมื่อผู้บังคับการป้อมพระจุลจอมเกล้าเห็นเรือรบฝรั่งเศสแล่นผ่านกระโจมไฟเข้ามา จึงสั่งให้ทหารทุกนายประจำสถานีรบ และสั่งให้เริ่มปฏิบัติการตามพระบรมราชโองการคือ เริ่มยิงปืนใหญ่ด้วยกระสุนดินเปล่า 1 นัด เพื่อเป็นสัญญาณเตือนมิให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามา แต่เรือรบฝรั่งเศสก็ยังแล่นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายไทยจึงได้ยิงกระสุนบรรจุดินปืนนัดที่ 2 ให้กระสุนตกข้างหน้าเรือเป็นการเตือน จากนั้นทางป้อมพระจุลจอมเกล้าก็เห็นว่าเรือรบฝรั่งเศสชักธงชาติขึ้นยอดเสาทุกเสา และที่เสากราฟเป็นสัญญาณว่าประจำสถานีรบ พร้อมกับยิงมาทางป้อมพระจุลจอมเกล้า ฝ่ายไทยจึงยิงเรือรบฝรั่งเศสด้วยปืนทุกกระบอก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกำลังแสนยานุภาพของสองประเทศที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้เรือรบฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำ คือเรือโกแมตและเรือแองคองสตังค์สามารถแล่นล่วงเข้ามาจอด ณ บริเวณหน้าสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ท่ามกลางความสงัดเงียบวังเวงแห่งรัตติกาล ต่อมาเหตุการณ์สู้รบในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 112 หนังสือพิมพ์ของอังกฤษที่ออก ณ กรุงเทพมหานคร รายงานข่าวในเวลาต่อมาว่า ทหารไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 41 นาย และหายสาบสูญ 1 นาย ส่วนฝ่ายทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นาย
วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ครั้งนั้น ได้นำมาสู่สถานการณ์ที่ฝรั่งเศสเรียกร้องผลประโยชน์ และการครอบครองดินแดนไทยยืดเยื้ออยู่นานกว่า 10 ปี ไทยต้องยอมสูญเสียดินแดนเป็นจำนวน ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดให้ฝรั่งเศสไป เพื่อรักษาผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ และเอกราชไว้การยุทธ์ของกองทัพไทย นอกจากนี้แม้ว่าฝ่ายไทยจะด้อยแสนยานุภาพกว่าฝรั่งเศสด้วยประการทั้งปวง ทว่าจิตใจและความหาญกล้าของทหารไทยนั้นมิได้ย่นย่อเกรงกลัวข้าศึกแต่ประการใด ในปัจจุบัน ป้อมพระจุลจอมเกล้าที่ตั้งตระหง่าน ณ ปากน้ำเจ้าพระยา จึงเป็นอนุสรณ์แห่งวีรกรรมในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่อนุชนไทยควรรำลึกถึงวีรชนผู้เสียสละอย่างไม่สิ้นสุด
ภายหลังจากเหตุการณ์ ร.ศ.112 ทำให้ประเทศไทยต้องเสียค่าปฏิกรรมสงคราม และสูญเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบทเรียนอันมีค่าสำหรับประเทศไทยที่จะต้องรีบเร่งปรับปรุงทั้งองค์วัตถุและบุคลากร ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งพระโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาวิชาด้านการปกครอง การทหารบก และการทหารเรือ ณ ประเทศในทวีปยุโรป เพื่อนำวิชามาปรับปรุงประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับอารยประเทศ ในโอกาสนี้ทรงส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษเป็นพระองค์แรก และทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ นับว่าเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกที่เป็นนายทหารเรือที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2449 (ร.ศ. 125)พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสร็จมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนนายเรือ ร.ศ. 125” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานลายพระราชหัตถเลขา ไว้ในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือ ดังนี้ “วันที่ 20 พฤษจิกายน ร.ศ. 125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจซึ่งได้เหนการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเปนที่มั่นสืบไปในภายน่า”
โดยพระราชหัตถเลขานี้ได้จารึกไว้ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่รากฐานการทหารเรือไทยได้หยั่งลงแล้ว ทางการทหารเรือไทยจึงถือว่าวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันกองทัพเรือสืบจนปัจจุบัน
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ