บ้านแซรสะโบว ตำบลดงรัก อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก มีที่ราบลุ่มอยู่บ้างแต่สภาพดินไม่เหมาะสมในการทำนาปลูกข้าว ต้องซื้อข้าวสารจากภายนอกมาบริโภค ในอดีตมีโรงเรียนบ้านแซรสะโบว เปิดการเรียนการสอนให้แก่เยาวชน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2516 ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนต้น และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จวบจนถึงปี 2520 เกิดความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนจึงต้องปิดทำการสอนชั่วคราว ในปี 2524 สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ โรงเรียนบ้านแซรสะโบวจึงได้เปิดทำการเรียนการสอนอีกครั้งหนึ่ง และในปี 2535 ได้รับอนุมัติให้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น จวบจนปัจจุบัน
นางวิชญฌาณ์ กรสันเทียะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแซรสะโบว เปิดเผยว่า เด็กนักเรียนในโรงเรียนเป็นบุตรหลานของประชาชนในพื้นที่ ส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ประกอบกับบริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ของโรงเรียนเป็นป่าละเมาะ จึงได้ใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรสำหรับเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง โดยทำการเกษตรเพื่อโครงการอาหารกลางวัน มีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร. ) โดยศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ เข้ามาสนับสนุน ทั้งวิชาการและปัจจัยการผลิต “กิจกรรมจะมี 9 ฐาน เช่น ฐานเห็ด ฐานเลี้ยงไก่อารมณ์ดี ฐานเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และฐานเกษตรทฤษฎีใหม่ มีแปลงพืชไร่ นาข้าว บริเวณคันนาปลูกหญ้าแฝก นอกจากนี้มีการปลูกแก้วมังกร พืชผักสวนครัว สับปะรด ยางพารา และโรงเรือนเพาะชำกล้าไม้ ผลผลิตที่ได้นำมาประกอบอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน มีเหลือก็จำหน่ายให้แก่ร้านอาหารในชุมชน เป็นรายได้เข้ามาหมุนเวียนในโครงการ”
ส่วน นางสาวรื่นฤดี ศรีสันธ์ และ นางสาวนันน์สินี โกมาระเดช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านแซรสะโบว ร่วมกันเปิดเผยกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ว่า มีหลายอย่างที่สามารถนำไปใช้ในชุมชน หรือ ครอบครัวของนักเรียนแต่ละคนได้ เช่น การทำแปลงผัก ปลูกผักชนิดต่างๆ การเพาะเห็ด ผลผลิตที่ได้โรงเรียนนำไปประกอบอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน และสำหรับใช้ในการเรียนรู้เรื่องการแปรรูปผลผลิต เช่น เห็ดหยอง แหนมเห็ด นอกจากนี้ได้เรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมัก การปลูกพืชสมุนไพร ตะไคร้ ขิง ข่า ส่วนคนที่ชอบพืชประดับ มีเรือนเพาะชำให้ได้เรียนรู้ รวมถึงการปรับปรุงดินจากใบไม้เพื่อไม่ต้องซื้อดินเวลาปลูกพืชผัก ช่วยลดต้นทุนได้ “หลายอย่างที่ปลูกก็เอาไปขายในหมู่บ้านได้ แล้วเอาเงินนั้นมาซื้อลูกปลาดุกตัวละ 1 บาทเลี้ยงในบ่อที่โรงเรียน โดยจะดูแลการเปลี่ยนน้ำสัปดาห์ละครั้งเลี้ยงประมาณ 3 เดือน เมื่อโตเต็มที่แล้วก็นำมาชั่งกิโลขายกิโลกรัมละ 70 บาท ส่วนหนึ่งก็เอามาทำอาหารในโครงการอาหารกลางวัน ทำให้นักเรียนในโรงเรียนมีอาหารกินอย่างสมบูรณ์ทุกวัน” นางสาวรื่นฤดี ศรีสันธ์ กล่าว
ด้าน นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กปร.ได้สนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ในการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติใช้ด้วยการนำผลการศึกษาทดลองที่สำเร็จแล้วไปขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎรและชุมชน ตลอดถึงโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งอาหารเป็นของตนเอง มีกินมีใช้มีขายสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
“จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะด้านการผลิตนั้น ทุกวันนี้เป็นเมืองที่มีอาหารการกินทุกอย่างสมบูรณ์ ทั้งผลไม้ดีมีคุณภาพและรสชาติดีเยี่ยม โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟ ได้รับการจดทะเบียนเป็นทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ สินค้า GI หรือสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว นับเป็นผลไม้พื้นถิ่นที่โดดเด่น มีรสชาติอร่อยถูกปากผู้บริโภค มีราคาดี สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีลองกอง มังคุด เงาะที่ให้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วในทุกวันนี้ ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”