วันที่ 10 ก.ค.66 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (10 ก.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 38,469 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 37,868 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,175 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 37,868 ล้าน ลบ.ม. จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาถึงสถานการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ และยาวนานไปจนถึงต้นปีหน้า กรมชลประทาน จึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ตั้งแต่ช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา ด้วยการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมวิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณน้ำรายสัปดาห์ เพื่อนำข้อมูล/สถิติที่ผ่านมา มาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งใช้ระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์น้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี ตามข้อสั่งการของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อเป็นการรับมือสถานการณ์เอลนีโญในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 14-16 ก.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาวตอนบน และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เน้นย้ำให้ปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 รวมทั้งข้อสั่งการของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด หมั่นตรวจสอบอาคารชลประทาน คันกั้นน้ำ และสถานีสูบน้ำให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่สำคัญให้กำจัดสิ่งกีดขวางอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
สำหรับโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่ในขณะนี้เริ่มมีปริมาณฝนตกท้ายเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำ ตามหลักวิศวกรรม โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนและระบบนิเวศ เพื่อเก็บกักน้ำไว้สำรองใช้ให้ได้มากที่สุด จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ช่วยกันเก็บกักน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน