กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.85-35.55 ติดตามเงินเฟ้อสหรัฐฯ โหวตนายกฯ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.85-35.55 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.17 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.84-35.31 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯพุ่งขึ้นในช่วงแรกสอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสหรัฐฯที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ระบุว่าผู้ดำเนินนโยบายมีความเห็นร่วมกันที่จะคงดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย.เพื่อประเมินว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกจำเป็นหรือไม่ โดยกรรมการบางรายต้องการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.เนื่องจากเงินเฟ้อลดลงช้า อนึ่ง กรรมการส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นของแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโดยเห็นว่าข้อมูลเพิ่มเติมจะมีความสำคัญสำหรับการพิจารณานโยบายที่เหมาะสมต่อไป อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไรท้ายสัปดาห์ขณะที่ตลาดพันธบัตรผันผวนหลังสหรัฐฯรายงานตำแหน่งการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดรวมถึงมีการทบทวนตัวเลขเดือนเม.ย.และพ.ค.ลดลงรวม 1.1 แสนตำแหน่งเมื่อเทียบกับที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ โดยนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 8,010 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตร 10,046 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า นักลงทุนจะติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่ามีโอกาสราว 92% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค.นี้ แต่ตลาดไม่แน่ใจว่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของวัฎจักรหรือไม่ ทางด้านข้อมูลค่าจ้างในญี่ปุ่นบ่งชี้ว่าการก่อตัวของเงินเฟ้อกำลังชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้นซึ่งอาจเข้าเงื่อนไขที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)จะตัดสินใจปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนในการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค. ภาวะเช่นนี้อาจแนวโน้มหนุนค่าเงินเยนในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า
ส่วนปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 0.23% y-o-y ซึ่งน้อยสุดในรอบ 22 เดือน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.32% ขณะที่ก.พาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3 และ 4 จะอยู่ที่ 0.77% และ 0.62% ตามลำดับ ทั้งนี้ จากท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เรามองว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งสู่ระดับ 2.25% ส่วนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอาจส่งผลกระทบต่อ Sentiment การลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินบาทในระยะนี้