ประชากรไทยกินผักและผลไม้รวมกันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากวันละ 336.94 กรัมต่อวันในปี 2561 เป็น 392.21 กรัมต่อวัน ในปี 2562 แต่ยังไม่ถึงปริมาณที่แนะนำ (อย่างน้อย 400 กรัม/วัน ตามคำแนะขององค์การอนามัยโลก โดยพบประชากรไทยไม่ถึงร้อยละ 40 ที่กินผักและผลไม้เพียงพอตามคำแนะนำ แม้ว่าแนวโน้มการกินเพียงพอจะเพิ่มขึ้นก็ตาม (จากร้อยละ 34.5 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 38.7 ในปี 2562) โดยผู้ที่อยู่ชนบทกินผักและผลไม้เพียงพอมากกว่าผู้ที่อยู่เขตเมือง (ร้อยละ 40.3 และ 36.8 ตามลำดับ) การส่งเสริมให้ประชากรในแต่ละกลุ่มได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างเพียงพอและเหมาะสมตลอดช่วงวัย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชากรในระยะยาว ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง และเพิ่มผลิตภาพการทำงานในระยะยาว

มาตรการรณรงค์สื่อสารมวลชน (mass media campaign: MMC) เป็นหนึ่งในมาตรการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายและมาตรการด้านอาหารและโภชนาการอื่น ๆ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (WHO, 2013) ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานรัฐในประเทศไทยมีการรณรงค์แบบ MMC ผ่านสื่อต่าง ๆ และร่วมกับเทคนิคการตลาดเพื่อสังคม (MMC including social campaign: MMSMC) ซึ่งเป็นการรณรงค์แบบสื่อสารมวลชนที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมและสภาพแวดล้อม ดำเนินงานโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส .) และการรณรงค์ในระดับชุมชน ที่ดำเนินการโดยองค์กรหรือชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

ผศ.ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง“อิทธิพลของความเป็นเมืองและประสบการณ์ชีวิตในการรับรู้การรณรงค์สื่อสารมวลชนต่อการกินผักและผลไม้เพียงพอของประชากรไทย”เพื่อสำรวจพฤติกรรมและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกินผักและผลไม้ของประชากรไทย รวมไปถึงการรับรู้ การเข้าถึงและการเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย มาตรการ และโครงการที่ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการกินผักและผลไม้ โดยได้รับการอนุเคราะห์สุ่มตัวอย่างจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบหลายขั้น เก็บข้อมูลจากประชากรที่อาศัยอยู่ใน 9 จังหวัด จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม ปราจีนบุรี นครสวรรค์ ลำปาง สุรินทร์ อุดรธานี สงขลา และพัทลุง อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และ รวมทั้งสิ้น 3,010 คน แบ่งเป็นเขตเมือง 1,637 คน และชนบท 1,373 คน

จากการวิจัยพบว่า ลักษณะความเป็นเมืองและชนบทของประเทศไทยมีผลต่อการกินผักและผลไม้เพียงพอของประชากรไทย ผู้ที่อยู่ในเขตเมืองกินผักและผลไม้น้อยกว่าผู้ที่อยู่ในเขตชนบท (ร้อยละ 10.2 และ 12.6 ตามลำดับ) ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการกินผักและผลไม้เพียงพอของคนในเขตเมือง ได้แก่ อาชีพ และการรับรู้รณรงค์แบบ MMSMC โดยหากเคยได้ยินการรณรงค์จาก MMSMC ในระดับมากตั้งแต่ปีแรก แม้ว่าในปีต่อมา อาจเคยหรือไม่เคยได้ยินอีก คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสกินผักและผลไม้เพียงพอมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยได้รับรู้เลยตั้งแต่ปีแรก เนื่องจากความเป็นเมืองส่งผลให้ผู้ที่อยู่สามารถเข้าถึงสื่อรณรงค์ต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า และการเข้าถึงสื่อรณรงค์เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอสำหรับการปรับพฤติกรรมในการกินผักและผลไม้เพียงพอได้

ขณะที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการกินผักและผลไม้ของคนในเขตชนบท ได้แก่ การรับรู้การรณรงค์แบบ MMSMC และแบบ MMC โดยหากเคยได้ยินจาก MMSMC น้อยในปีแรกและมาได้ยินมากขึ้นในปีต่อมา จะทำให้มีโอกาสกินผักและผลไม้เพียงพอมากขึ้น กรณีการรับรู้จาก MMC หากในปีแรกได้ยินมาก แต่ในปีต่อมากลับไม่เคยได้ยินเลย จะทำให้โอกาสการกินผักและผลไม้เพียงพอลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยทั้งนี้คนที่อยู่ในชนบทมักจะมีความสามารถในการเข้าถึงสื่อรณรงค์ต่าง ๆ ได้ยากกว่า และการรณรงค์ควรให้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนที่อยู่ในชนบทมีความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินผักและผลไม้เพียงพอได้

และในระยะเวลา 1 ปี (2561- 2562) ประชากรไทย มีการกินผักและผลไม้เพียงพอเพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นเมืองและการรับรู้การรณรงค์ผักและผลไม้ในช่วงชีวิตที่ผ่านมามีอิทธิพลสำคัญต่อการกินผักและผลไม้เพียงพอของประชากร ดังนั้น เพื่อให้ประชากรไทยกินผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับที่เพียงพอตามคำแนะนำ คือ อย่างน้อย 400 กรัมต่อคนต่อวัน ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนารูปแบบการรณรงค์ที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่อาศัยของประชากร เช่น ประชากรที่อยู่ในเขตเมืองควรเลือกการรณรงค์ที่ทันสมัย ใช้ช่องทางและเครื่องมือสื่อสารที่ดึงดูด เช่น ผ่านโซเชียลมีเดีย และกิจกรรมพบปะเจอกัน ฯลฯ เช่น การรณรงค์ให้ความรู้ต่าง ๆ ผ่านหน้า Facebook Instagram TikTok หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมตามสถานที่ที่ประชากรเมืองไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น ห้าง ลานกิจกรรม หรือศูนย์การประชุมต่าง ๆ

ในขณะที่ประชากรที่อยู่ในเขตชนบทที่อาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสื่อบางประเภท เช่น การให้ความรู้ผ่านทางผู้นำชุมชน สถานพยาบาล หรือในงานเทศกาล/กิจกรรมของแต่ละพื้นที่ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน รวมไปถึงการใช้การรณรงค์ผ่านป้ายประกาศ หรือโปสเตอร์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชากรที่อยู่ชนบทสามารถเห็นและรับรู้ได้ตลอดเวลาเพื่อลดการหลงลืม ดังนั้นหากต้องการกระตุ้นการรับรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องการกินผักและผลไม้ของประชากรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เป้าหมาย ควรให้ความสำคัญกับวิธีการและรูปแบบการรณรงค์ที่เหมาะสมกับประชากรในพื้นที่ที่แตกต่างกันและมีการรณรงค์ที่ต่อเนื่องด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

Phulkerd, S., Thapsuwan, S., Chamratrithirong, A., Gray, R. S., Pattaravanich, U., Ungchusak, C., & Saonuam, P. (2022). Implementing population-wide mass media campaigns: Key drivers to meet global recommendations on fruit and vegetable consumption. Plos one, 17(8), e0273232. 
WHO. (2003). Fruit and vegetable promotion initiative: a meeting report, 25-27/08/03. 
WHO. (2013). Global action plan for the prevention and control of noncommunicable diseases 2013-2020. World Health Organization.