Krungthai GLOBAL MARKETS ระบุค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.13 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซน 35.05 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาต่ำกว่าคาด ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้นทดสอบโซน 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) ออกมาต่ำกว่าคาด ทว่าอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคงมุมมองว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนกรกฎาคมได้

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่จะชี้ชะตาแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด พร้อมจับตาสถานการณ์การเมืองไทย (โหวตเลือกนายกฯ) อย่างใกล้ชิด

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญที่อาจส่งผลต่อมุมมองผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟด คือ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน โดยบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 3.1% จาก 4% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงานและผลของฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญ อาจชะลอลงสู่ระดับ 5% ซึ่งอาจเป็นระดับที่เฟดยังคงกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมากกว่าคาด เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มปรับลดมุมมองต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม ที่ล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาสถึง 93% ซึ่งในกรณีดังกล่าว ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นชะลอลงกว่าคาด เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง นอกเหนือจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofMichigan Consumer Sentiment) เดือนกรกฎาคม รวมถึงรายงานสภาวะเศรษฐกิจและภาคธุรกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book)

▪ ฝั่งยุโรป – ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ อย่างใกลชิด เพื่อประเมินโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +50bps เหมือนกับในรอบการประชุมก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้งสองธนาคารกลาง อนึ่ง ตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซนผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) รวมถึง ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ซึ่งตลาดมองว่า รายงานข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาด (นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน) อาจยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ท่ามกลางการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ECB และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่แย่กว่าคาด 

▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ (แม้ว่าอาจจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง) อาจทำให้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ตัดสินใจ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ระดับ 3.50% และ 5.50% ตามลำดับ ทั้งนี้ในส่วนภาพเศรษฐกิจ ตลาดอาจยังคงกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ดีนัก ซึ่งจะสะท้อนผ่านยอดการส่งออก (Exports) เดือนมิถุนายน ที่อาจหดตัวต่อเนื่องถึง -10%y/y นอกจากนี้ยอดการนำเข้า (Imports) ก็จะหดตัวราว -4.8% สะท้อนความต้องการในประเทศที่ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่ตลาดคาดหวัง สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนี PMI ของจีน 

▪ ฝั่งไทย – ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเราประเมินว่า แคนดิเดตจากฝั่งพรรคก้าวไกลและพันธมิตร อาจขาดเสียงสนับสนุนจากฝั่งวุฒิสภาพอสมควร ทำให้การโหวตเลือกนายกฯ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงและอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยต่อได้ อย่างไรก็ดี หากการโหวตเลือกนายกฯ ราบรื่นกว่าที่เราคาด เราประเมินว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนก็อาจทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและหนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาทยอยซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้  


สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งอาจกระทบต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ โดยแม้โมเมนตัมเงินบาทฝั่งอ่อนค่าจะแผ่วลงมากขึ้น แต่หากการโหวตเลือกนายกฯ ยังคงมีความไม่แน่นอนและอาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ นักลงทุนต่างชาติก็อาจขายสินทรัพย์ไทยต่อ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ แนวรับสำคัญจะอยู่แถว 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนสูงได้เช่นกัน ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจต้องเห็นว่าผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้น ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ถึง 2 ครั้ง เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.90-35.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.05-35.25 บาท/ดอลลาร์