วันที่ 8 ก.ค. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์ก่อนลงพื้นที่พบปะมวลชนที่หลานย่าโม จังหวัดนครราชสีมา ถึงการตั้งข้อสังเกตการลงพื้นที่เดินสายจนยาวถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นการปลุกมวลชน ไม่ได้เป็นการปลุกระดม แต่ยังมีเวลาว่าง และมีหลายพื้นที่ที่ได้ลงไปขอบคุณประชาชนแล้ว ที่นครราชสีมาก็มีการเรียกร้อง วันที่มีการเลือกประธานสภา ส.ส.โคราชก็ถามว่าเมื่อไหร่จะมาโคราชวันนี้ก็เลยถือโอกาสมา หารือกับภาคเอกชน หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมโคราช มีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน เช่นปัญหาภัยแล้ง
เมื่อถามว่า ดูจากตารางการลงพื้นที่ยาวไปจนถึง ก่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าปลุกระดมมวลชน นายพิธา กล่าว ก็คงโดนวิพากษ์วิจารณ์ทุกเรื่อง ซึ่งไม่ได้กังวล เพราะเราก็ทำงานของเราไป
เมื่อถามถึงความมั่นใจในเสียงสนับสนุนจากส.ว. สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายพิธา กล่าวว่ามีความมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เห็นส.ว.หลายๆ ท่าน ส่งจดหมายเปิดผนึกออกมาแสดงจุดยืน ซึ่งท่านก็พูดชัดเจน แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อตน และชื่อพรรค แต่มองว่าเป็นโอกาสที่จะคืนความปกติให้กับระบบการเมืองไทย และให้โอกาสประเทศไทยที่ไม่ปกติมานาน มีการล้มล้างทางการเมือง และรัฐประหาร นิติสงคราม มีการยุบพรรค เป็นสิ่งที่ไม่ปกติตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 60 เชื่อว่าส.ส.และส.ว. มีโอกาสที่จะคืนความปกติให้การเมือง โดยเลือกมติของรัฐบาลเสียงข้างมาก 312 เสียง ที่ถือเป็น 75% ของ ส.ส.ทั้งหมด เป็นวาระสำคัญของประเทศที่จะบอกว่า เราจะไปทิศทางไหน
เมื่อถามถึงเงื่อนไขของส.ว. กรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 ในฐานะหัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล จะยืนยันเดินหน้าแก้ไขหรือลดเพดานลง เพื่อให้ได้รับเสียงโหวตจากส.ว. มากขึ้นหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่าเป็นเงื่อนไขที่อ่อนลงเรื่อยๆ เมื่อได้รับฟังคำชี้แจง และคำอธิบายถึงเหตุผล ส.ว.หลายท่านจะเริ่มเข้าใจ ว่าเรื่องนี้ไม่ได้อิงกับพรรคการเมืองหรือนโยบายของพรรค แต่เป็นเรื่องหลักการที่จะทำให้ระบบกลับมาปกติ ที่เหลือก็ต้องใช้สภา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางความคิด และไม่มีใครผูกขาดนโยบายทางความคิดได้ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีกรรมาธิการเพื่อขับเคลื่อนงานในสภา เมื่ออธิบายให้ส.ว. หลายท่าน ก็มีความเบาใจและเข้าใจมากขึ้น ว่าการอนุรักษ์หรือรักษา คือทำให้เกิดการพัฒนา เมื่อมีการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะก็เข้าใจกันมากขึ้น
เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันจะเดินหน้าการแก้ไขมาตรา 112 ตามที่หาเสียงไว้กับประชาชนใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า“ครับ สัญญากับประชาชนไว้ ยังไงก็ต้องทำ”
เมื่อถามว่า มั่นใจใช่หรือไม่ ว่าจะสามารถได้รับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านตั้งแต่ครั้งแรก นายพิธา กล่าวว่าคิดว่าพยายามเต็มที่ที่สุด เมื่อถามต่อว่า หากไม่ผ่านในครั้งแรกคิดว่าจะให้โอกาสตัวเองกี่ครั้ง นายพิธา กล่าวว่า ตรงนี้ต้องยึดความคิดของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเท่าพี่ฟังนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พท.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็พูดชัดเจนว่า ตอนนี้ยังไม่มีแผนสอง ดังนั้น ก็จะโฟกัสเต็มที่ในวันที่ 13 ก.ค.
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าต้องได้รับโอกาสอีก หากไม่ผ่านครั้งแรก นายพิธา กล่าวว่า “ให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ พร้อมยกตัวอย่าง ในกรณีประธานสภาสหรัฐที่โหวตมากถึง 15 ครั้ง แต่ตนไม่ได้บอกว่าจะมากน้อย หรือตัวเลขควรจะเป็นเท่าไหร่ แต่ในมุมมองของตน ตนมองว่าควรจะยึดมติของประชาชนเป็นหลัก ถ้าประชาชนไม่ถอย ผมก็ไม่ถอย”
ส่วนกรณีที่นายธนากร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ออกมาแสดงความเห็นว่าหากตรวจครั้งแรกไม่ผ่านควรให้ให้โอกาสพรรคอันดับสองเสนอชื่อนายกฯ ไม่ควรมีการโหวตซ้ำรอบที่สองนั้น นายพิธา กล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นของนายธนกรอย่างเดียว ไม่ได้เป็นหลักการหรือ ข้อกฎหมายใดๆ ส่วนหวังหรือไม่ว่าจะได้เสียงจากขั้วรัฐบาลเดิม นายพิธา กล่าวว่า การโหวตครั้งนี้ไม่ได้โหวตให้ตน เป็นการโหวตเพื่อคืนความปกติในระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ไม่ได้คิดว่าเป็นการโหวตของฝ่ายค้านให้ตนแล้วจะเป็นการสนับสนุนตนหรือนโยบายของพรรคซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน แต่เป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยในสภาเสียงข้างมาก รัฐบาลผสมนี่คือหลักการที่สำคัญ เพราะเฉพาะนั้นสิ่งที่เขาจะให้คือหลักการไม่ใช่ตน
เมื่อถามว่า คิดว่าจะต้องโหวตกี่ครั้ง ถึงจะเปลี่ยนไปเป็นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคอันดับสอง นายพิธา ย้ำว่า ยังไม่มีแผนสอง ทำตามแผนแผนแรกที่พรรคร่วมได้พูดคุยกันไว้ก่อน
ในช่วงท้ายผู้สื่อขาวได้ถามว่ามาโคราชจะขอพรอะไรจากย่าโม ขอให้ภัยแล้งไม่หนักมาก เมื่อถามย้ำว่า ไม่ได้ขอให้ตนเองเป็นนายกฯหรือ นายพิธากล่าวว่า “ไม่หรอกครับต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ขอให้โคราชผ่านภัยแล้งและการท่องเที่ยวดีขึ้น”