วันที่ 8 ก.ค. 66 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีส.ว.บางส่วนมีความเห็นไม่ให้นำชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล มาโหวตเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 หากการโหวตรอบแรกไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ว่า แม้ตามรัฐธรรมนูญจะไม่มีข้อห้ามให้ผู้ที่เสนอชื่อโหวตนายกฯรอบแรกไม่ผ่าน ไม่ให้กลับมาเสนอรอบสอง แต่ในทางปฏิบัติควรเสนอชื่อบุคคลอื่นแทน เพราะมีความชัดเจนไปแล้วว่าที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับรายชื่อที่เสนอ ถ้ายังให้นำกลับมาเสนอชื่อซ้ำได้จะถูกตั้งคำถามมากว่า ทำเพื่ออะไร จะเพื่อไปติดต่อ วิ่งเต้นขอคะแนน หรือให้ผลประโยชน์อะไรหรือไม่ ตามมาตรฐานสากล หากมีการโหวตเลือกใครไปแล้ว ไม่ได้รับความเห็นชอบถือว่าควรจบไปในรอบเดียว แล้วไปจัดทัพรวบรวมเสียง หาคนมาใหม่มาเลือกใหม่ ถ้าให้เลือกซ้ำคนเดิมได้ ก็ไม่รู้จะโหวตเลือกกันไปกี่รอบ ยิ่งการโหวตเลือกรอบแรกไปแล้ว ทำให้รู้ว่าใครโหวตเลือกหรือไม่เลือก อาจจะมีการล็อบบี้หรือข่มขู่เจ้าตัวหรือลูกเมียให้เกิดความกลัว เพื่อให้เลือกในรอบต่อไปที่ผ่านมาส.ว.ก็โดนข่มขู่ลักษณะนี้ แต่เราไม่กลัว
นายเสรี กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ส.ว.หลายคนเปลี่ยนใจจากเดิมจะสนับสนุนเป็นไม่สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ หลังได้รับฟังเหตุผลต่างๆ จนเปลี่ยนใจ แม้พรรคก้าวไกลยังเชื่อว่า มีพลังเงียบจากส.ว.จะโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ แต่ตนอยู่วงใน ทราบอะไรได้ชัดและเยอะกว่า เชื่อว่าไม่มีพลังเงียบส.ว. ถ้ามีก็แค่บวกลบ 5 คน ถ้าจะมีอะไรเปลึ่ยนไปก็คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เพราะช่วงหลังเริ่มข่มขู่กันเยอะขึ้น ทั้งผ่านคนในครอบครัว ผ่านไลน์ ถึงความไม่ปลอดภัย ตนก็โดนข่มขู่ระวังลูกเมียไม่ปลอดภัย ส่วนกระแสข่าวแจกเงินซื่อส.ว.ในการโหวตนายกฯมีได้ยินมาบ้าง แต่ไม่รู้มีจริงหรือไม่ แต่ใครให้ก็เสียเงินเปล่า ส.ว.ส่วนใหญ่ยืนยันไม่หนุนนายพิธาเพราะมีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายอื่นๆ ไม่ต้องมาโทษส.ว. ทุกอย่างทำตัวเองทั้งนั้น
เมื่อถามว่า หากนายพิธาไปไม่รอด พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล ส.ว.พร้อมโหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ส.ว.เคยหารือกันถึงกรณีถ้าเปลี่ยนตัวนายกฯเป็นของพรรคเพื่อไทย แต่ยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลอยู่ เสียงส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ถ้าพรรคก้าวไกลยังร่วมรัฐบาล และจะแก้มาตรา 112 อยู่ ส.ว.ก็ไม่สบายใจ ก้าวไกลควรไปเป็นฝ่ายค้านแม้ขณะนี้การเสนอแก้มาตรา 112 ยังเป็นแค่ขั้นตอนทางกฎหมาย อาจไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯในที่สุดแต่ส.ว.อยากแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม เพราะไม่อยากให้เข้ามาอภิปราย เสนอความเห็น มีคนวิพากษ์วิจารณ์ จะทำให้ปัญหาลามไปสู่ภายนอกได้ เกิดความขัดแย้งยิ่งขึ้นอีก ดังนั้น หากพรรคก้าวไกลยังร่วมรัฐบาล และไม่ลดราวาศอก ไม่หยุดแก้ไขมาตรา 112 ส.ว.ก็ไม่เลือก ไม่ว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯก็ตาม ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ถอยแก้มาตรา 112 วุฒิสภาก็ไม่ถอย ส่วนถ้าพรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมตั้งรัฐบาลนั้น โดยไม่ไปแตะต้องมาตรา112 ก็ถือเป็นการเมืองปกติ ส.ว.พร้อมโหวตสนับสนุน ปัญหาจะไม่มีเลย
นายเสรี กล่าวอีกว่า หากอดีตพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยมาสู้ หากการโหวตนายกฯไม่สำเร็จสักทีนั้น ตนเชื่อว่า ส.ว.ก็ไม่น่าโหวตให้คนฝ่ายเสียงข้างน้อยเป็นนายกฯ รัฐบาลเสียงน้อยตั้งไปไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีเสียงสนับสนุนถึง 250 เสียง การบริหารประเทศจะไม่ได้รับความร่วมมือในการออกกฎหมายสำคัญๆ ได้แต่แก้ปัญหาของตัวเองก็เหนื่อยพอแล้ว แต่ไม่มีเวลาบริหารประเทศ ส.ว.ต้องคำนึงเรื่องเหล่านี้ด้วย ดังนั้น โอกาสไปหนุนเสียงข้างน้อยเป็นนายกฯแทบจะไม่มี แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่คงไม่ได้เสียงสนับสนุนจากส.ว.