วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่สำนักงานเขตหนองจอก นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญในพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครว่า ปีนี้ มีความกังวลเรื่องภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณฝนในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยถึง 38% ที่นากว่า 1 แสนไร่ของเกษตรกรกลุ่มเขตตะวันออกอาจได้รับผลกระทบเรื่องการขาดน้ำทำการเกษตร จากการประชุมร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า น้ำในเขื่อนมีเพียงพอสำหรับปล่อยสู่พื้นที่เกษตรกรรมฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ทั้งในเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม กทม.มีมาตรการรองรับคือ 1.ให้กรมชลประทานประสานงานกับสำนักการระบายน้ำอย่างเข้มข้นด้านการพยากรณ์สภาพอากาศ ซึ่งต้องมีแผนกักน้ำหากเกิดภัยแล้ง และต้องระบายน้ำหากเกิดน้ำท่วม พร้อมปรับแผนที่การระบายน้ำระหว่างกรมชลประทานกับสำนักการระบายน้ำให้ตรงกัน โดยเน้นทั้งด้านระบายน้ำและด้านเกษตรกรรม
2.จัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วมสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรกร สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตกรมชลประทาน เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว โดยให้สำนักงานเขตหนองจอกเป็นเจ้าภาพ 3.รับฟังข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่และนำไปปรับปรุง เช่น การสูบน้ำจากคลองแสนแสบมากักเก็บเพื่อรองรับการทำเกษตรกรรมการควบคุมคุณภาพน้ำจากคลองเพื่อให้เหมาะสมกับการทำเกษตร และการสร้างทำนบน้ำ (ปิดกั้นลำน้ำไม่ให้น้ำไหลผ่าน) ในพื้นที่เขตหนองจอก 4.การให้ข้อมูลแก่เกษตรกร เช่น วันเวลาหว่านเมล็ด ควบคุมปริมาณการปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มี รวมถึงการปลูกพืชทดแทนในช่วงฤดูแล้ง เช่น แตงโม พร้อมจัดหาตลาดจำหน่ายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
นอกจากนี้ ตัวแทนเกษตรกรขอให้ กทม.สนับสนุนเครื่องอัดฟางข้าวเพื่อลดการเผา ซึ่งก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนในการจัดการฟางข้าวเพื่อนำไปขาย โดยไม่ต้องเช่ารถอัดฟางข้าวเหมือนที่ผ่านมา จูงใจให้เกษตรกรหยุดการเผาทำลายฟางข้าวมากขึ้น โดยสั่งการให้สำนักพัฒนาสังคมเร่งจัดหาเครื่องอัดฟางข้าวช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็ว
นายชัชชาติ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจสถานการณ์ สบายใจขึ้น และลดความกังวลลง เนื่องจากกลุ่มเขตตะวันออกในกรุงเทพมหานครมีเกษตรกรจำนวนมาก ยืนยันว่า กทม.ให้ความสำคัญ ไม่ละเลย