วันที่ 7 ก.ค.2566 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) ชุดใหม่ในวันที่9 ก.ค. แล้ว  การพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีก็จะมีการพิจารณาร่วมกันว่าทิศทางในการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไร ซึ่งการเลือกนายกฯเปรียบเสมือนการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ฉะนั้นหลักเกณฑ์ วิธีการ ตามข้อบังคับพรรคต้องประชุมร่วมกันเพื่อมีมติออกมา ดังนั้นหลังจากวันที่ 9 ก.ค.ก็จะเกิดความชัดเจน

"ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีฟรีโหวต ต้องเป็นไปตามมติพรรค และเชื่อว่าจะต้องรีบประชุมเพื่อให้ทันตามกำหนดที่ประธานสภาฯระบุว่าจะเลือกนายกฯในวันที่13 ก.ค. ซึ่งเราจะต้องมีความชัดเจน เพราะหากไม่ชัดเจนสังคมก็จะตั้งคำถาม และปกปิดไม่ได้เพราะต้องกระทำโดยเปิดเผยในสภา เพราะการเลือกนายกฯที่ต้องเปิดเผย ทุกคำพูดจึงต้องรับผิดชอบ เหนือสิ่งอื่นใดความเป็นพรรคต้องรับผิดชอบ"นายราเมศกล่าว

เมื่อถามว่ามีกระแสเรียกร้องให้แยกประเด็นการเลือกแคนดิเดดนายกฯออกจากม.112 นายราเมศ กล่าวว่า เรื่องม.112 เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภา ตนถามว่าหากทุกคะแนนเสียง หรือประเพณีปฏิบัติว่าใครจะเป็นนายกฯไม่ต้องมีฝ่ายค้าน ไม่ต้องมีรัฐบาล โดยไม่ต้องมี 8 พรรคแกนนำไปตั้งรัฐบาล แต่รวมทุกพรรคการเมืองเลยที่จะโหวตให้นายพิธา สมาชิกรัฐสภาสามารถใช้สิทธิ์และดุลยพินิจของตนเองได้  ซึ่งสมาชิกก็ต้องเก็บม.112 มาคิดว่าจะเลือกใครมาเป็นนายกฯ

"แต่หากจะบอกว่าเสียงข้างมากชนะเลือกตั้งแล้วจะมาบังคับว่าประชาธิปัตย์ต้องเลือกคุณพิธาเป็นนายกฯ เราจะตั้งพรรคการเมืองไปทำไม ยุบไปรวมกับพรรคก้าวไกลดีไหม ซึ่งไม่ใช่ ผมถึงบอกว่าประชาธิปไตยต้องรับฟังเสียงข้างน้อย ไม่ใช่เสียงข้างมากบอกได้มา14 ล้านเสียงแล้วพรรคนี้ไม่ยกมือให้เขาเป็นนายกฯ แล้วใช้สังคมประชาชนมากดดันว่าคุณไม่ยกมือให้เขา ซึ่งสังคมก็เกรียวกราวตอบรับเขาล้นหลามทั้งประเทศ  พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีสิทธิ์คิดหรือว่าเขาจะเลือกใครเป็นนายกฯ เราต้องทำตามกระแสแบบนั้นหรือ ซึ่งมันไม่ใช่ ที่ผมพูดไม่ได้ใช้ความรู้สึกส่วนตัว หรือความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เหมือนสิทธิของประชาชนทั่วไป " นายราเมศ กล่าว