ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
อุดมการณ์ไม่ได้เกิดจากความเชื่อใด ๆ แต่เกิดจากความสะเทือนใจ หรือ “สำนึก” อันรุนแรง
แม้จะผ่านวันรัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519 มาได้กว่า 2 ปี ในปีที่กงกริชเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความรู้สึกขวัญผวายังมีอยู่ในเห็นไปทั่วทุกบริเวณ ที่มหาวิทยาลัยไม่มีพิธีรับน้อง แต่ในคณะมีการ “ปฐมนิเทศ” ด้วยการ “นั่งหลับตาฟังเรื่อง” น้องใหม่นั่งบนพื้นในห้องประชุม หลับตานิ่งเงียบ หายใจเข้าออกเบา ๆ ช้า ๆ รับฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากพี่ ๆ ที่มาสลับกันพูด 3 คน ๆ ละ 10 นาที ซึ่งก็พูดด้วยเสียงเบา ๆ พอได้ยิน คนแรกพูดถึงความฝันของคนหนุ่มสาว คนต่อมาเล่าเรื่อง “ล้อมสังหาร” 6 ตุลาคม 2519 และคนสุดท้ายพูดปลอบขวัญเพื่อรับขวัญ
การเรียนในห้องเรียนเต็มไปด้วยความหวาดระแวง พี่ ๆ เล่าว่ามีการส่ง “คนหัวเกรียน” มาร่วมเรียนในห้องด้วย แต่ต่อมาก็ไว้ผมปกติ เชื่อกันว่าเป็นตำรวจหรือทหารที่มาคอยจับผิด ว่าจะมีการสอนอะไรที่ “ล้างสมอง” นักศึกษาหรือไม่ แต่บางคนก็บอกว่าเป็นแค่ภาพหลอน เพราะในมหาวิทยาลัยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ บางทีแม้แต่นักศึกษาด้วยกันเองก็รู้จักกันไม่หมด รวมทั้งที่มีความระแวงกันไปเอง โดยเฉพาะ “แผลเก่า” จากความหวาดผวาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 นั้น
กงกริชไม่ค่อยชอบกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่เขาจึงไปซุกตัวอยู่ในห้องสมุด อันเป็นสถานที่ที่เป็นเสมือน “โลกใหม่ - โลกใหญ่” สำหรับเขา เพื่อนบางคนเรียกเขาว่า “คนหลังห้องสมุด” เพราะเขามักจะไปอยู่ท้ายห้องสุดในห้องสมุดและนั่งอยู่เป็นเวลานาน ๆ ในท่าที่ก้มหน้าอ่านหนังสือนิ่งอยู่อย่างนั้น มองไกล ๆ จากประตูด้านหน้าห้องสมุดก็จะเห็นเขาเป็นเหมือนรูปปั้นประดับอยู่ท้ายห้องเท่านั้น
ในโลกวิชาเศรษฐศาสตร์ในยุคที่เขาเรียน เต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และสภาพด้อยพัฒนา หรือ “3 อัปลักษณ์ของเศรษฐกิจไทย” นั่นก็คือเรื่องราวของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ต้องเรียนเกี่ยวกับประเทศไทย รวมถึงเศรษฐศาสตร์การพัฒนาและเศรษฐศาสตร์เปรียบเทียบ ซึ่งก็ยิ่งทำให้เน้นย้ำในสภาพเศรษฐกิจไทยในทั้งสามเรื่องนั้น ยิ่งตัวเขาเองที่ได้เห็นทั้งสามอัปลักษณ์นั่นมาในพื้นถิ่นที่เขาเติบโตมา ก็ยิ่งทำให้เขาสนใจที่จะเรียนรู้ในวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่เขาหวังว่าจะแก้ทั้งสามเรื่องอัปลักษณ์ให้หมดสิ้นไปได้
แรก ๆ เขาก็เลื่อมใสในแนวคิดแบบสังคมนิยมค่อนข้างมาก เขาศึกษาเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซิสต์อย่างลึกซึ้ง ต่อมาเขาก็สนใจในเรื่องของลัทธิรัฐสวัสดิการ จนกระทั่งถึงแนวคิดแบบยูโธเปีย หรือ “โลกพระศรีอาริย์” ที่ชักนำให้เขาไปสนใจเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ นอกจากนี้เขายังได้ให้ความสนใจกับเศรษฐศาสตร์ในแนวทางสมัยใหม่ เป็นต้นว่า เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่หันเหออกจากตัวมนุษย์ไปยังองค์ประกอบอื่น ๆ ที่รายรอบตัวมนุษย์ ที่เขาศึกษาไปอย่างมากมายหลายหลากนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องที่เขาวางแผนจะไปศึกษาต่อแล้ว ยังเป็นสิ่งที่เขาอยากจะเอาไปเป็นเครื่องมือในการการแก้ปัญหา “สามอัปลักษณ์” ของประเทศไทยนั้นด้วย
เขาอาจจะโชคไม่ดีอยู่บ้าง เพราะในปีที่เขารับปริญญาตรี พ่อของเขาก็เสียชีวิต แม่ขอร้องให้เขาเรียนต่อปริญญาโทในประเทศ เพราะไม่อยากให้เขาไปไหนไกล ๆ เขาก็ยอมโดยเรียนต่อในหลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษ อันเป็นหลักสูตรที่เป็นโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศ และสามารถเรียนเชื่อมโยงต่อไปจนจบปริญญาเอก ซึ่งจะต้องมีการไปทำวิจัยในต่างประเทศด้วยส่วนหนึ่ง เมื่อเขาจบปริญญาโทแล้วก็เลือกไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น เพราะเดินทางไม่ไกลจากประเทศไทยมากนัก และที่สำคัญมีหัวข้อที่เขาสนใจ คือเศรษฐศาสตร์การเกษตร ที่เขาหวังว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรไทย ผู้เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของแผ่นดินที่เขาเกิดนี้
ผมได้เจอกงกริชในปีที่เขามาสอบเข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ แล้วเราก็ต้องมาอบรมการเป็นข้าราชการและงานในหน้าที่อาจารย์ด้วยกัน เขาเป็นคนที่ร่าเริงแจ่มใสและถ่อมตัวมาก ๆ ทั้งที่เขาจบถึงระดับดอกเตอร์และมีอาวุโสน้อยกว่าผม แต่เขาก็ให้ความเคารพนับถือผมมาก และยอมให้ผมนำในทุก ๆ กิจกรรม แม้แต่ในเรื่องส่วนตัว อย่างเช่นเขาอยากจะไปเรียนรู้ “ชีวิตคนหนุ่ม” ซึ่งเขาบอกว่าเขาไม่ถนัด เพราะไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มาก่อน ตั้งแต่ที่เป็นวัยรุ่นก็เอาแต่เรียน จนกระทั่งผ่านวัยหนุ่มไปโดยไม่ได้ข้องแวะเรื่องใด ๆ จนกระทั่งเข้ามารับราชการนี้ แต่เขาก็เพียงแค่ได้ไปเห็นเพื่อการเรียนรู้จริง ๆ กระนั้นเขาก็สามารถมองสิ่งที่เขาไปเรียนรู้มานั้นออกมาในแง่ของการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์
เวลาที่ผมพาเขาไปเที่ยว เขาจะดื่มแต่เพียงเล็กน้อย แล้วก็สามารถนั่งคุยกับพวกที่ไปด้วยกันได้ทั้งคืน เขาชอบชวนสาว ๆ ที่มานั่งดริงก์คุยในเรื่องชีวิตของพวกเธอ ซึ่งผมก็บอกเขาว่าส่วนมากมักจะเป็นนิยายที่สาว ๆ พวกนั้นแต่งขึ้นมาเพื่อให้ดูน่าสงสารจนถึงน่าทะนุถนอม จึงมีความจริงน้อยมาก แต่เขาก็ดูมีความขะมักเขม้นที่จะพูดคุยในเรื่องส่วนตัวต่าง ๆ กับสาว ๆ เหล่านั้น แม้กระทั่งเด็กเสิร์ฟหรือพนักงานทำความสะอาด ซึ่งเขาได้อธิบายให้ผมฟังต่อมาว่า โลกที่เขาผ่านมานั้นคับแคบ เมื่อเขาได้ออกมาสู่โลกกว้าง เขาก็อยากจะเก็บเกี่ยวข้อมูลทุกอย่างมาเข้าสู่ตัวเขาให้มากที่สุด และก็ออกตัวว่าอย่าหาว่าเขาบ้าเป็นนักวิชาการ ที่เห็นเขาเอาแต่เก็บเกี่ยวหาความรู้เอาจากคนโน้นคนนั้น แต่นี่มันก็กลายเป็นสันดานของเขาแล้ว ในการที่ชอบ “ค้นคว้า” ในชีวิตของผู้คน เช่นเดียวกันกับที่ชอบค้นคว้าในวิทยาการทุกซอกมุมของวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น
เขาบอกว่าในเรื่อง “น้ำเน่า” หลาย ๆ เรื่องจากการที่ได้คุยกับคนทำงานกลางคืน เขาได้กรองจนพอ “ดื่มดมได้” และนำมาใช้ในวิชาเศรษฐศาสตร์ของเขา ซึ่งทำให้เขาได้มุมมองใหม่ ๆ ในการเรียนรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความด้อยพัฒนา หรือ “สามอัปลักษณ์ของเศรษฐกิจไทย” ที่เขาให้ความสนใจมาตั้งแต่เริ่มเป็นนักศึกษา ซึ่งเขาสรุปรวมว่าสาเหตุหลักของทั้งสามอัปลักษณ์ฯนั้นก็คือ “สภาพสังคมที่รายรอบ” ตั้งแต่ประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรมสังคม ทุนสังคม และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
ประวัติศาสตร์สังคมไทยคือสังคมศักดินา มีการกดขี่จากชนชั้นที่สูงกว่ามาโดยตลอด แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาหลายสิบปี แต่ชนชั้นปกครองก็ยังคงกดขี่เอาเปรียบชนชั้นที่ด้อยกว่าอยู่เสมอ นั่นคือวัฒนธรรมของสังคมไทย ก่อให้เกิดประเพณีในการกดขี่มากมาย โดยเฉพาะในระบบราชการและระบบการเมือง ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจที่ทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบอยู่เป็นปกติ แบ่งแยกผู้คนเป็นกลุ่ม ๆ ที่เอารัดเอาเปรียบกันเป็นชั้น ๆ เกิดความเหลื่อมล้ำใน “ทุน” หรือคุณค่าทางเศรษฐกิจ มองผู้คนบางกลุ่มอ่อนด้อยกว่า พร้อมกับที่สร้างระบบผูกขาดขึ้นในกลุ่มที่ได้เปรียบ ที่อ้างว่าเป็นพวก “ต้นทุนสูง” ดังที่เห็นเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจแบบ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” นั้น
ในขณะเดียวกันกับการที่โลกภายนอกพัฒนาไปสู่ทุนนิยมเสรี ที่มีความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเป็นคนรวยได้ ทุกคนก็จะปรับปฏิสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจในการสร้างตัวตนให้รวยเป็นหลัก แม้จะเป็นภาวะแบบ “รวยเทียม” ก็ขอให้คนอื่นได้รับรู้ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับวัฒนธรรมทางสังคมของคนไทย ที่เป็นสังคมแห่งหน้าตา ชอบอวดร่ำอวดรวย หรือความเหนือกว่าคนอื่น แม้กระทั่งชาวชนบทก็ชอบทำตัวเป็นชาวเมือง รวมถึงดูหมิ่นดูแคลนชาวชนบทด้วยกัน เพียงเพื่อจะให้ตัวเองนั้นเป็นชาวเมืองขึ้นอย่างโดดเด่น
กงกริชบอกผมว่า เขามีโปรเจ็คต์ใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง คืออยากจะแก้วัฒนธรรม “หน้าใหญ่ใจโต” ของคนไทย เพราะเชื่อว่าจะลดความเหลื่อมล้ำได้ส่วนหนึ่ง รวมถึงความยากจน และพ้นจากความด้อยพัฒนา
อุดมการณ์แม้จะไม่สำเร็จในชีวิตนี้ แต่ถ้ามีคนสืบทอดก็ย่อมจะสำเร็จได้ในสักวัน