ไทย-อียู ได้ฤกษ์ฟื้นเจรจา FTA นัดแรก 18 ก.ค.นี้ หลังหยุดไป 10 ปี ตั้งเป้าจบในปี 68 ผลักดันการค้า-ลงทุน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ตนและนายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าของสหภาพยุโรป (อียู) ได้ร่วมกันประกาศนับหนึ่งเปิดการเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรปเมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดได้มอบหมายให้นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมและเชิญหัวหน้าคณะเจรจา FTA ฝ่ายอียูมาหารือในวันที่ 18 ก.ค.66 ที่กรุงเทพฯ เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการเจรจา FTA ในภาพรวม ก่อนที่ฝ่ายอียูจะเป็นเจ้าภาพการเจรจารอบแรกแบบเต็มคณะในช่วงเดือน ก.ย.66 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียมต่อไป

โดยการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับอียูเป็นนโยบายสำคัญที่ตนมอบให้กระทรวงพาณิชย์นับเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายกลับมาหารือกันอีกครั้งหลังจากที่หยุดการเจรจาไปเกือบ 10 ปี FTA ไทย-อียูเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไทยเรียกร้อง และไทยจะได้รับประโยชน์จากการจัดทำ FTA เช่น ภาษีการส่งออกสินค้าไทยไปอียูจะเป็นศูนย์ สามารถแข่งขันด้านราคาและมีแต้มต่อกับประเทศที่ไม่ได้ทำ FTA กับอียู และทำให้ภาคการผลิตลดต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ เกิดการแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกัน ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และช่วยดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในไทยอีกด้วย ตั้งเป้าเจรจาให้เสร็จภายใน 2 ปีคือ ภายในปี 2568

นางอรมน กล่าวว่า ได้เชิญนายคริสตอฟ คีแนร์ หัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายอียูในการเจรจา FTA ไทย-อียู มาร่วมหารือเฉพาะในระดับหัวหน้าคณะ เพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการการเจรจา FTA ไทย-อียู เช่น แผนงานการเจรจา ระเบียบวิธีการประชุม รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเจรจาในแต่ละประเด็น อาทิ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พิธีการด้านศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การแข่งขัน รัฐวิสาหกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ความโปร่งใส กลไกระงับข้อพิพาท การค้าดิจิทัล พลังงานและวัตถุดิบ SMEs หลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ

สำหรับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (61-65) การค้าระหว่างไทยและอียูมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 38,523.56 ล้านดอลลาร์ โดยปี 2565 อียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย ส่วนในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.66) การค้าระหว่างไทยและอียูมีมูลค่า 17,598.04 ล้านดอลลาร์ โดยส่งออกไปอียูมูลค่า 9,392.30 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 8,205.74 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เป็นต้น