ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“กระบวนการของการมีเหตุผล...ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นอันสำคัญ ต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ในยามนี้...หลายๆคนต่างพยายามเตือนตนอยู่เสมอ ที่จะต้องใช้เหตุผลกับทุกสถานการณ์ ทั้งๆที่ไม่เต็มใจและเข้าใจในบริบทของแต่ละเหตุการณ์เท่าใดนัก...สภาวะเช่นนี้จึงเป็นเหมือนความคลาดเคลื่อนแห่งแรงขับทางด้านมายาคติ ที่ยิ่งจะทำให้ชีวิตของเราจมอยู่กับความไม่รู้ในแก่นสารแห่งความเป็นไปของโลกเสียมากกว่า..มันจึงต้องตกอยู่ในสภาพที่คลุุมเครือและหาคำตอบที่แม่นตรงไม่ได้..นัยของเหตุผลนั้นเป็นสิ่งที่ล้ำลึก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องชั่งใจเพื่อตัดสินใจ ที่จะใช้ด้วยศรัทธาอันเป็นเนื้อแท้ของการหยั่งรู้..ซึ่งที่สุดแล้ว..การไม่มีเหตุผล อาจพลิกขั้วความแห่งการกระทำให้เป็นประโยชน์สุข ได้มากกว่า...ถ้าคนเราได้สัมผัสจิตอันถ่องแท้ของมัน..”

ความหมายแห่งการปลูกความคิด ที่ได้รับผ่านการตีความและสัมผัสรู้ จากหนังสืออันมีคุณค่าต่อชีวิต ณ วันนี้เล่มหนึ่ง...เล่มที่สามารถคลี่คลายนามธรรมแห่งความคิดด้านเหตุผล..จนก่อเกิดการรับรู้ที่เป็นเอกทัศน์ต่อการทำความเข้าใจชีวิตได้ด้วยตัวของตัวเองอย่างคลี่คลายและเป็นอัศจรรย์..

“เหตุผลที่ไม่ควรมีเหตุผล” (The Upside of Irrationality)หนังสือขายดีของนิตยสาร “New York Times”.. ผลงานเขียนอันล้ำคุณค่าต่อสำนึกคิดของ “Dan Ariely” ศาสตราจารย์นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมคนสำคัญของอเมริกา..ผู้โด่งดังจากหนังสือ “พฤติกรรมพยากรณ์” (Predictably Irrational)

“ทำไม..ความไร้เหตุผลถึงไม่แย่อย่างที่คิด ...?”  นั่นเป็นปริศนาคำถาม..ที่โน้มนำความคิดของผู้มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้..ให้เปิดกว้างต่อการค้นหาคำตอบอันพึงมีพึงใจ ต่อการเลือกสรรวิธีการแห่งการใช้ชีวิตย่างรัดกุมและมีความหมาย...ผ่านประสบการณ์อันแปลกต่าง ใน และ น่าทึ่งของผู้เขียน...สู่การวิเคราะห์เพื่อพิสูจน์ว่า..จริงๆแล้ว..คนเรานั้นไม่ได้มีเหตุผลมากมายอย่างที่โลกเชื่อกันตลอดมา..และ..ความไร้เหตุผลก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิดกันเสมอไป แต่มันอาจจะมีคุณประโยชน์อย่างที่มนุษย์เราคาดไม่ถึงเสียอีก....เหตุนี้..หลังจากการแสวงหาและเรียนรู้สรรพสิ่งนานาจากประสบการณ์แล้ว..เราอาจจะพบแง่มุมดีๆของ “ความไร้เหตุผล” แฝงฝังอยู่กับชีวิตมากมาย..

ไม่ว่า..จะเป็นมิติคำถามสำคัญๆที่เกิดขึ้นกับชีวิตเป็นเนืองนิตย์ หรืออุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม..อย่างเช่น..

ประเด็น..ของข้อข้องใจที่ว่า “ทำไมการแก้แค้น ถึงทำให้สังคมของเราน่าอยู่ขึ้น_?/จริงหรือ..ที่การเพิ่มความยุ่งยากลงไปในสินค้าและบริการสักนิดจักทำให้ลูกค้ารักมันยิ่งขึ้น ?/ทัศนคติของการลอกเลียนแบบ...ทำให้ “โซนี่” ย่ำแย่..แต่ “แอปเปิล” กลับรุ่งเรืองได้..อย่างไร?/ทำไมคนเรายิ่งใช้เว็บหาคู่มากขึ้น กลับทำให้มีคู่กันน้อยลง?/..ทำไมผู้ให้กำเนิดหลอดไฟอย่าง “เอดิสัน” ถึงพยายามทำทุกวิถีทางแม้แต่การทำผิดศีลธรรม...เพื่อขัดขวางการกำเนิดของไฟฟ้าที่พวกเราต่างใช้กันอยู่ในทุกวันนี้..?/หรือ..ประเด็นอันชวนถกเถียง..ที่ทำไมเมื่อคนเราได้รับโบนัสก้อนโต..แต่กลับทำงานออกมาได้อย่างไร้คุณภาพ?...

เหล่านี้คือตัวอย่างที่หาเหตุผลอันควรมีควรเป็นมาเชื่อมโยงหรือพิสูจน์ได้ .มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมั่นคงและสมบูรณ์จากความไร้เหตุผลอย่างชวนตรึกตรอง..

..ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเหล่านี้..เเละเขียนถึงมโนสำนึกแห่งการพินิจพิเคราะห์..เพื่อให้ผู้อ่านได้เกิดผัสสะขึ้นกับชีวิต..ผัสสะที่สามารถบ่งบอกต่อตนเองได้ว่า..

“เมื่อสามารถเข้าใจความคิดและพฤติกรรมอันไร้เหตุผลของมนุษย์ อย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว..เราก็จะได้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของมัน กระทั่ง..สามารถนำเอาด้านดีๆไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในขณะเดียวกันก็สารถที่จะปกป้องตนเอง จากด้านที่ไม่ดีไม่งามของมันได้เช่นกัน..จนถึงขนาดอาจได้ข้อประจักษ์ในเชิงสรุปว่า..เราประสบโชคดี..ที่ตัวเองเป็นคนไร้เหตุผล...”

หนังสือนี้..ได้มีแนวทางอยู่หลายแนวทาง เพื่อจะให้เราเข้าใจในตนเองอย่างถ่องแท้/ไม่ว่าจะในมิติของการมีเหตุผลหรือไร้เหตุผลก็ตาม..เริ่มต้น..จากการที่ต้องรู้ความหมายของงานที่ทำอยู่..เพราะเมื่อรู้ความหมายแล้ว..แรงจูงใจและการตั้งใจทำงานก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น..แม้ว่านายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาจะไม่ได้ให้รางวัลหรือสินทรัพย์เพิ่มขึ้นก็ตาม/..ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ..ในมิติความจริงที่ว่า..พัฒนาการด้านเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องออกล่าสัตว์ ทุกอย่างดูเหมือนจะง่ายขึ้นมาก แต่ก็ทำให้เกิดโรคภัยขึ้นกับคนเราได้ง่ายมากเช่นกัน..เพราะการเลือกบริโภคอาหารที่ผิด การไม่ออกกำลังกาย จะทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวช้า ไม่คล่องตัว จนก่อให้เกิดการขาดสมดุล../ในความเป็นจริง..ชีวิตเราอาจมีความประหม่า หรือความกดดัน..เมื่อพบเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน แต่ก็ขออย่าได้ขลาดกลัวจนท้อแท้และล้มเลิกการกระทำของชีวิต..เราต้องหยุดพิจารณา เพื่อวิเคราะห์ ก่อนมุ่งกระทำต่ออย่างระมัดระวัง..เพื่อการก้าวไปข้างหน้าทีละเล็กละน้อย..

ความเคยชินต่อสิ่งนานา จะทำให้คนเรามีกำแพงเกิดขึ้นภายในใจ .เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตนเอง มันจึงทำให้เกิดการเปิดใจในการรับรู้..สิ่งใหม่ๆที่แตกต่างได้ยากยิ่งขึ้น../ แท้จริง บางอย่างก็ยากเกินไป และไม่เหมาะสมกับคนบางคน ซึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียกับบรรดาทีมงานได้..เนื่องเพราะถ้าคนคนนั้นไม่สู้ก็จะทำให้ทีมพังได้ เพราะการไม่พยายามคิดต่อสู้กับปัญหา เพราะฉะนั้นจึงต้องเลือกงานให้ตรงและเหมาะสมกับบุคคลตั้งแต่ต้น เพื่อจะเป็นทางออก..ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดที่สุด/..ใส่ใจงานอย่างรู้ผลลัพธ์ว่า..ทำอย่างไรถึงจะทำให้ประสบความสำเร็จ..โดยการ สำรวจอารมณ์และความคิดของผู้ร่วมงานให้ออก..รู้ถึงภาวะการรอเวลาที่เหมาะสม..ก่อนจะลงมือทำอะไร รวมทั้ง  ต้อง รู้จักสังเกตผู้ร่วมงาน อย่างเข้าใจโดยถ่องแท้../เราจะใช้แรงงานน้อย..แต่ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นมาก และ จะส่งผลดี..เมื่อเราได้ตระหนักในคุณค่า และมีความสุขกับงาน/..บางทีการเข้าข้างตัวเองของคนเรา ก็สามารถสร้างโอกาสในการผลิต..ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อปรารถนาของลูกค้า../ที่สุด..ข้อดีของการไร้เหตุผลก็คือการทำให้เกิดความสุขง่ายขึ้น..ปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น..และ มองโลกในทางที่ดีมากขึ้น/..ความไม่สมบูรณ์แบบ..อาจทำให้ก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ ที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้../

รากเหง้าแห่งภาวะความคิดและบทบาทการแสดงออกของหนังสือเล่มนี้..ล้วนมาจากการถอดประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเป็นส่วนใหญ่..มีภาวะเปรียบเทียบกับบาดแผลของชีวิต..ซึ่งเป็นปรากฏการณ์จริง..แห่งการรักษาแผลไฟไหม้ คำอธิบายนัยเรื่องราวที่ประกอบสร้างขึ้นตรงส่วนนี้/จึงสัมผัสรู้สึกได้ถึงเลือดเนื้อ../และให้ความรู้สึกจริงจังทางความรู้สึกได้จริง..มันสื่อถึงความซับซ้อนที่ซ่อนเงียบอยู่ในความไร้เหตุผลซึ่งบางช่วงตอนก็หดหู่และน่ากลัว..ไม่ว่ามันจะปรากฏอยู่ในส่วนแห่งบทตอนของหนังสือใดก็ตามระหว่าง"โลกส่วนตัวและโลกแห่งการทำงาน"..

การตีแผ่รายละเอียดพฤติกรรมแห่งอารมณ์ความรู้สึกอย่างละเอียด..สื่อไปถึงความจริงที่ว่า..โดยปรกติเราต่างไม่ได้คิดคำนึงถึงภาวะแห่งการมีเหตุผลหรือการไร้เหตุผลในชีวิตเลย..นั่นคืออุปสรรคที่กลายเกิดเป็นโศกนาฏกรรมแห่งความคลุมเครือที่สิ้นวิถีแห่งการใคร่ครวญของชีวิต..

"ความไร้เหตุผล ไม่ได้ถูกมองในแง่ลบเสมอไป..ตัวอย่างการเคลื่อนไหวทางศิลปะของกลุ่ม"Dada Surrealist"ได้นำมาซึ่ง"ความไร้เหตุผล" และได้นำมาใช้ในการปฏิเสธเหตุผลและตรรกะ..ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ ความก้าวหน้าของเหตุผลที่บริสุทธิ์ถูกมองว่า เป็นคุณภาพที่อาจนำโลกไปสู่อนาคตได้/แต่สำหรับความไม่สมเหตุผล..ถือเป็นปัจจัยเชิงบวก .ที่ช่วยปรับสมดุลของเหตุผลที่มีมากเกินไป..การไม่คำนึงถึงเหตุผล..ถือกันมาช้านานว่า..มันคือความสูงส่ง..ความไร้เหตุผลและปราศจากตรรกะ..คือ .แนวโน้มและความเอนเอียงที่มนุษย์ต้องการแสดงออกในรูปแบบที่ไม่มีการยืดหยุ่น"

"Dan Ariely"วางโครงสร้างเรื่องราวของเขาเอาไว้อย่างเชื่อมโยงและรัดกุมจากการสื่อนัยของ .บทเรียนจากการผัดวันประกันพรุ่งและผลข้างเคียงต่อสุขภาพไปสู่...ความไร้เหตุผลอย่างคาดไม่ถึง ผ่านข้ามไปถึง..การจ่ายมากแต่ได้น้อยลง/ความหมายของการทำงาน/การเข้าถึงความคิดของตัวเอง/ไปสู่..บทเรียนแห่งนัยของวิถีแห่งการปรับตัว/ความไร้เหตุผลอย่างคาดไม่ถึงในชีวิตส่วนตัว/ความเร้าใจหรือไม่เร้าใจและไปจบลงในที่สุดที่ผลกระทบในระยะยาวของอารมณ์ชั่วแล่น..กับ บทเรียนจากความไร้เหตุผลของเรา…

ผมเชื่อว่า..หนังสือนี้..สามารถจะจุดประกายให้กับทุกคน ที่จะสรรค์สร้างชีวิตขึ้นมาจากภาวะของความเข้าใจ.."ความมีเหตุและความไร้เหตุผล/เป็นเงื่อนไขของภาวะที่ไร้ข้อกำหนดตายตัว..ยิ่งอ่านและหยั่งลึกลงไปในหนังสือเล่มนี้..แสงสว่างแห่งปัญญาก็จะปรากฏ มันคือสัญชาตญาณการรับรู้ที่แสดงอำนาจออกมา ด้วยหลักหมายของความคิดคำนึงอันแรงกล้า.."คัดสรรและปลดปล่อยเงื่อนไขที่ตายตัวให้ปะทุออกมาดั่งน้ำพุของจิตปัญญา..

ดั่งนั้น..อะไรเป็นอะไรในหลักการที่แท้มันย่อมขึ้นอยู่กับเเรงขับแห่งการโอบประคองที่มุ่งมั่นของจิตปัญญาภายในตัวตนของทุกคน..ที่จะตีความแก่นแกนของมวลจริตแห่งสรรพสิ่งของเหตุและผล ตลอดจน..แรงเหวี่ยงที่ต้องซึมซับอย่างสัตย์ซื่อผ่านมายาจริตอันฆ่าไม่ตายและทำลายไม่ได้ออกมา..

"ทำไมความไร้เหตุผลถึง ไม่ได้แย่อย่างที่คุณคิด..และคุณ จะนำมันมาใช้ประโยชน์กับชีวิตได้อย่างไร..?"

"พรเลิศ อิฐฐ์" และ "วิโรจน์ ภัทรทีปกร"ร่วมกันแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่าง มีคุณค่า..สื่อถึงความเข้าใจรหัสนัย ของหนังสือโดยรวมที่ค่อนข้างจะมีประเด็นและนัยเฉพาะที่ล้ำลึก..ยิ่งอ่านก็ยิ่งจะขบแตกถึงเนื้อในของปมสำนึกอันคาดไม่ถึงอีกด้วย..

นั่นคือวิถีแห่งสัจจะ..อันเป็นตราประทับที่ยากจะลืมเลือนและมองข้ามผ่าน"หัวใจ"ของหนังสือแห่งสาระอันมีค่าเล่มนี้ ...

“ถ้าเราปรารถนาจะให้สิ่งที่ดีใดๆก็ตามเกิดขึ้นกับชีวิต เราต้องมีความเชื่ออย่างเต็มที่และหมดใจเสียก่อน..เนื่องเพราะ..บางสิ่งอย่างที่เกิดกับชีวิตของเรา..บางครั้ง..มันก็ดำรงอยู่..เกินกว่าเหตุผล..ที่เราจะเชื่อได้...”