รายงานข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 7 ก.ค.66 จะเปิดเวทีชี้แจงผลการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือเอฟที ที่จะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนก.ย.-ธ.ค.66 เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน และผู้ประกอบการ เริ่มตั้งแต่ 7 – 21 ก.ค.66 แบ่งเป็น 3 ทางเลือกเช่นเดิมคือ 1.ลดค่าไฟปลายปีนี้งวดเดือนก.ย.-ธ.ค.66 ได้มากกว่า 20 สตางค์ต่อหน่วย แต่ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน 2.ลดค่าไฟได้ไม่เกิน 20 สตางค์ต่อหน่วย 3.ตรึงค่าไฟอยู่ในระดับปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย

สำหรับตัวแปรสำคัญคือ การผ่อนจ่ายหนี้คงค้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) 1.3 แสนล้านบาทว่า จะยืดการจ่ายหนี้อีกหรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวการพิจารณาอัตราค่าไฟล่าสุดยังไม่เป็นที่พอใจของภาคเอกชนมากนัก เนื่องจากเอกชนมองว่า ค่าไฟงวดใหม่ควรลดได้มากกว่า 45 สตางค์ต่อหน่วย หรือไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งที่ผ่านมากกพ. ระบุว่า อาจลดได้ประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน( กกร.)ได้แสดงความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าและชี้ว่าหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่าเอฟทีแล้วพบว่า มีปัจจัยบวกให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 10% จากงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.66) คาดว่า ไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4.70 บาทต่อหน่วย เนื่องจากปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวันในเดือน ก.ค.66 และเพิ่มเป็น 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในเดือนธ.ค.66 ขณะที่ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีลดลง,ราคาแอลเอ็นจี สปอท ลดลงมากกว่า 30%,ราคาพลังงานโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และภาระหนี้ของ กฟผ.ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริง ราคาแอลเอ็นจีต่ำกว่าที่เรียกเก็บ แม้ว่า ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ กกร.ได้เสนอภาครัฐให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ.จาก 5 งวดเป็น 6 งวด เพื่อให้ค่าเอฟทีลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนส.ค.68,ขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี มอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวในการจัดหาเพื่อเป็นการสกัดดีมานด์เทียมจากชิปเปอร์หลายรายที่เข้าจัดหาในตลาดสำหรับนำมาผลิตไฟฟ้าในงวดใหม่ให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด และไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยการจัดหาในราคาเฉลี่ยแอลเอ็นจี ช่วง 14-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่ง กกร.มีความกังวลว่า หากเข้าสู่ฤดูหนาวจะทำให้ราคาแอลเอ็นจี ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลก โดย กกร.จะมีหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไปเร็วๆนี้