วันที่ 6 ก.ค.66 ที่ห้องรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายทองทิพย์ แก้วใ แกนนำตัวแทนภาคประชาชนอำเภอแม่สะเรียง พร้อมด้วยเครือข่ายได้เข้าพบ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามความคืบหน้า ภายหลังได้ยื่นร้องคัดค้านการขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่หินปูนเพื่อการก่อสร้างในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขต รอยต่อระหว่าง บ้านโป่งดอยช้าง หมู่ 13 ต.บ้านกาศ และ บ้านแพะ หมู่ 3 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด ไปก่อนหน้านี้แล้ว และยังไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ พร้อมกันนี้กลุ่มแกนนำยังได้ยื่นหนังสือร้องคัดค้านการขอสัมปทานบัตรเหมืองแร่หินปูน ฯ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน อีกครั้ง โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด , ปลัดจังหวัดอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน รวมทั้งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าชี้แจงกับกลุ่มผู้ร้องคัดค้านดังกล่าว
นายทองทิพย์ แก้วใส ตัวแทนภาคประชาชนชาวอำเภอแม่สะเรียง กล่าวว่า การมาพบผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวนี้เพื่อติดตามความคืบหน้าหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือไปครั้งหนึ่งแล้ว และมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการขอสัมปทานบัตรเหมืองแร่ แต่ก็ได้คำตอบระดับหนึ่ง แต่เป้าหมายที่มาวันนี้ สิ่งที่ต้องการคืออยากให้บริษัทถอนคำขอประทานบัตร หากบริษัทยอมที่ถอนประทานบัตร ชาวแม่สะเรียงก็จะยุติการเคลื่อนไหวทันที แต่ถ้าหากยังเดินหน้าต่อเราจะเคลื่อนไหวต่อไป ส่วนการทำประชาวิจารณ์นั้นหากอุตสาหกรรมจังหวัด แจ้งให้ชาวบ้านรับรู้ก่อนว่าจะทำประชาวิจารย์แบบไหนอย่างไร ชาวบ้านก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไหมพื้นที่ป่าบ้านโป่งดอยช้าง จึงถูกจัดว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม เพราะตั้งแต่อดีตเมื่อ 20 ปีกว่าที่ผ่านมาเคยเป็นเหมืองเก่า (2540) แต่ ปัจจุบันป่าได้รับการดูแลจากชาวบ้าน ได้ฟื้นคืนกลับมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าชุมชนของบ้านโป่งดอยช้าง ที่ได้ร่วมกันจัดตั้งกฎระเบียบในการป้องกัน อนุรักษ์ รักษาผืนป่า และ เป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชน มายาวนานจนตั้งแต่การยกเลิการทำเหมืองเก่า อีกทั้งหลังจากการดูแลผืนป่าของชาวบ้านตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ ป่าชุมชนบ้านโป่งดอยช้างได้รับรางวัล ป่าชุมชนตัวอย่างในระดับจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากการประกวดป่าชุมชน โครงการ กล้ายิ้ม “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน”ประจำปี 2553 ซึ่งร่วมขับเคลื่อนโดยกรมป่าไม้
การเดินทางขึ้นพบผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน อุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ ทางป่าไม้แม่ฮ่องสอน ครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้า ภายหลังได้ยื่นเรื่องคัดค้านว่ามีผลอย่างไรบ้าง ทางท่านผู้ว่าฯมีแนวทางช่วยเหลือความเดือดร้อนของคนแม่สะเรียง อย่างไร ในส่วนของ อุตสาหกรรมจังหวัด ประเด็นเรื่องการขอประทานบัตรมีการขออนุญาติถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามขั้นตอนระเบียบหรือไม่ แม้ว่าประชาชนในพื้นที่สัมปทานจะไม่มีพื้นที่ที่มีโฉนดตามหลักเกณฑ์แต่ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบโดยตรงด้านอื่นๆที่ส่งผลกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ยาวนาน และ ทางด้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็จะถามว่าจริงๆแล้วพื้นที่ป่าที่ได้รับการประทานบัตรนั้น เป็นป่าเสื่อมโทรมจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนชาวแม่สะเรียงต้องการที่จะรู้คำตอบ ทั้งนี้ ชาวแม่สะเรียง ได้มีการร่วมตัวคัดค้านและยื่นหนังสือผ่านอำเภอแม่สะเรียง และมีการเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนการคัดค้านอย่างชัดเจนต่อเนื่องมา ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม พร้อมกันนี้ได้ มีการทำประชาคม 6 หมู่บ้าน ทั้งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงของการได้รับผลกระทบ ประกอบไปด้วย บ้านโป่งดอยช้าง บ้านแพะ บ้านนาคาว บ้านทุ่งพร้าว บ้านท่าข้าม บ้านป่ากล้วย ซึ่งชาวบ้านมีความเห็นพ้องต้องกัน 100% ในการร่วมคัดค้านการขอประทานเมืองแร่ในครั้งนี้ ป่าชุมชนบ้านโป่งดอยช้าง ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในอนาคต หากได้รับการประทานบัตร พบว่าป่าไม้ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งในอดีต 20 กว่าปีที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณนี้เคยมีการทำเหมืองมาแล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันธรรมชาติได้ฟื้นตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ที่ชาวบ้านช่วยกันรักษาต้องมาถูกทำลายเพราะการทำเหมืองแร่อีกครั้ง ถูกต้องแล้วหรือ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน ย้ำชัดคัดค้าน ไม่ขอซ้ำรอยเดิม
สำหรับพื้นที่การขอประทานบัตร ตามใบอนุญาตขอทำเหมืองแร่อยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่าง บ้าน โป่งดอยช้าง ต.บ้านกาศ และบ้านแพะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน บนเนื้อที่ 132-0-97 ไร่ เป็นพื้นที่ขอประทานบัตร 1/2565 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง) โดยทางบริษัทได้ทำการลงพื้นที่พบปะพี่น้องบ้านโป่งดอยช้างล่าสุด เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 การลงพื้นที่ของบริษัทฯ ในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อห่วงใยชาวบ้านในรัศมีการดำเนินการของเหมืองแร่ในรัศมี 500 เมตร โดยทีมงานวิศวกรเมืองแร่ของบริษัทฯ โดยระบุว่าพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ไม่มีแหล่งโบราณ คดี หรือแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3
ตัวแทนชาวบ้านระบุว่า บริเวณจุดสัมปทานบัตรกับพื้นที่ชุมชนและตัวอำเภอแม่สะเรียงห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร ชาวบ้านย่อมมีความกังวลผลกระทบที่จะได้รับไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลกระทบต่อป่าที่ถูกทำลาย มลพิษทางอากาศ หรือ มลพิษทางเสียง แรงสั่นสะเทือนของการระเบิด ซึ่งรัศมีการกระจ่ายของฝุ่นละอองจะสร้างความเดือดร้อนไปทั่วแม่สะเรียงอย่างแน่นอน ประกอบกับพื้นที่ใกล้จุดประทานบัตร มีส่วนราชการ สถานที่สำคัญ อาทิ โรงเรียน วัด โบสถ์ โรงพยาบาล ซึ่งหากมีการประทานบัตรในระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ย่อมส่งกระทบถึงรุ่นลูกลูกหลานอย่างแน่นอน เหมือนคนแม่สะเรียงต้องตายทั้งเป็น จึงเป็นเรื่องที่ต้องรวมตัวกันคัดค้าน เพื่อไม่ให้เกิดการทำเหมืองแร่ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง อย่างแน่นอน
นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การที่อุตสาหกรรมรับเรื่องการขอสัมปทานบัตรเหมืองแร่จากผู้ขอสัมปทานบัตรเป็นไปตามกฏหมาย แต่กระบวนการต่าง ๆ ยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน การขอความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น และอื่น ๆ ซึ่งถ้าไม่ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก็ไม่สามารถไปต่อไปและได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฏหมาย และให้ฟังเสียงของประชาชนที่คัดค้านด้วย ได้ผลอย่างไรก็แจ้งให้ประชาชนรับรู้เป็นขั้นตอน เพราะชาวบ้านต้องการให้เรื่องยุติ เพราะแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองแห่งความสุข เป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้สมบูรณ์ ก็ต้องเอาข้อห่วงใยของประชาชนมาพิจารณา เพื่อให้ประชาชนคลายความกังวนและมีความสุข