นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.88 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 34.85-35.02 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำสู่ระดับ 1,924 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ต่างยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุดในช่วงเช้าตรู่ของวันนี้ ได้สะท้อนจุดยืนของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่ต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Semiconductor (Intel -3.3%, Qualcomm -2.5%) ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ร้อนแรงขึ้น หลังทางการจีนออกมาตรการควบคุมการส่งออกโลหะที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรม Semiconductor
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลงกว่า -0.73% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก รวมถึงความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่สดใสและอาจกดดันภาพเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนได้สะท้อนผ่านการปรับตัวลงต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Kering -2.9%, Anglo American -2.7%)
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่มุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ผ่านรายงานการประชุมเฟดล่าสุด ได้ช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.94% ใกล้โซนแนวต้านสำคัญ 4.00% ซึ่งเรามองว่า อาจจะเป็นจุดกลับตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนอาจทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น หรือ Buy on Dip
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ นอกจากนี้ ภาวะระมัดระวังตัวของตลาดยังได้หนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอีกด้วย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.3 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.95-103.4 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,924 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวลงของราคาทองคำ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ที่อาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ได้ รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง ก่อนปิดท้ายด้วย รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) และรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ซึ่งทุกข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ก็ล้วนมีความสำคัญต่อการตัดสินใจปรับนโยบายการเงินของเฟด
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ชะลอลงจริง ตามที่เราคาดการณ์ไว้ และเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้างของเงินบาท หลังเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างเชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้จริง นอกจากนี้ ภาวะตลาดการเงินที่ไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ก็ยังคงเป็นปัจจัยหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่ทองคำก็อาจไม่ได้เป็นที่ต้องการของผู้เล่นในตลาดมากนัก เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
อย่างไรก็ดี แรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลงได้บ้าง เนื่องจากทางรัฐสภาได้มีการกำหนดวันโหวตเลือกนายกฯ ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ทำให้นักลงทุนต่างชาติ อาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ไทย เพื่อรอจับตาทิศทางการเมืองไทยก่อน อนึ่ง เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวขึ้นตามได้บ้าง ซึ่งก็จะช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาด อย่าง นักลงทุนต่างชาติ ทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยเพิ่มเติมได้
ทั้งนี้ ควรระวัง ความผันผวนในตลาดค่าเงิน ช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มทยอยรายงานตั้งแต่เวลา 19.15 น. ทำให้ในช่วงการซื้อ-ขาย ระหว่างวัน เงินบาทอาจไม่ได้แกว่งตัวในกรอบกว้าง แต่อาจจะผันผวนมากขึ้นในช่วงดังกล่าว ซึ่งเราประเมินว่า โซนแนวรับสำคัญยังคงเป็นช่วง 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่โซนแนวต้านก็อาจอยู่ในช่วง 35.15 บาทต่อดอลลาร์ เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.80-35.15 บาท/ดอลลาร์