ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คำตอบความมั่นคงเชิงพื้นที่ในการทำกินของราษฎร
นายสี ห่วงเพชร เกษตรกรต้นแบบการปลูกไม้ผล กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนจะม๊อกปรำ หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ครอบครัวทำเกษตรผสมผสานแบบอินทรีย์บนพื้นที่ทำกิน 5 ไร่ โดยจะเน้นปลูกไม้ยืนต้น อาทิ ทุเรียน กาแฟ มะพร้าวน้ำหอม เงาะ มะไฟ ละมุด น้อยหน่า สับปะรด แซมด้วย พริก มะเขือ แตง ถั่วฝักยาว สำหรับทุเรียนอินทรีย์ ตอนนี้มีผลผลิตเป็นปีที่ 2 แล้ว ราคาดีมาก สามารถขายได้กิโลกรัมละ 180 – 200 บาท
“ตอนแรกปลูกพืชล้มลุก พอมาปี 2560 ปลูกพืชยืนต้น เพราะมีน้ำสมบูรณ์ ในหลวงรัชากาลที่ 9 ท่านพระราชทานสร้างแหล่งน้ำให้ มีขุดคลองส่งน้ำให้แก่ชุมชน เริ่มแรกเข้าไปอบรมการปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ต้นพันธุ์ทุเรียน 17 ต้น มาปลูก ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีจึงซื้อต้นพันธุ์มาปลูกเพิ่ม ก็ทำตามที่เจ้าหน้าที่ศูนย์แนะนำทุกประการ มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลแปลงปลูกพร้อมแนะนำวิธีการอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ทำให้ทุเรียนเจริญเติบโตดีให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ ขายได้ราคาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ทุกวันนี้ดีขึ้นมาก” นายสี ห่วงเพชร กล่าว
จังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่ประชาชนเคยมีความยากจนสูงสุดของประเทศ ตั้งอยู่กึ่งกลางของชายแดนอีสานใต้ ติดพรมแดนประเทศกัมพูชามีป่าต้นน้ำลำธารสมบูรณ์มากกว่าพื้นที่ขายแดนจังหวัดอื่นๆ แต่ผลของการตัดไม้เพื่อใช้ประโยชน์จำนวนมากและต่อเนื่องในอดีต ยังผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้งซ้ำซาก จึงเป็นเหตุของความยากจนเป็นต้นมา ประกอบกับปัญหาด้านความมั่นคงที่มีการสู้รบจากความขัดแย้งของทหารหลายฝ่ายในกัมพูชา และมีพื้นที่ป่าเขาที่ซับซ้อนตามแนวเขตชายแดน จังหวัดนี้จึงเป็นที่หลบซ่อนของกองกำลังกู้ชาติกัมพูชา และทหารกัมพูชาในศูนย์อพยพที่หลบหนีการควบคุมออกมารบกวนราษฎรไทยบริเวณพรมแดนอยู่เสมอ
ความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี 2535 จึงได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตาจูขึ้นที่บ้านตานวน ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีษะเกษ เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำเพาะปลูกอย่างปลอดภัยใกล้หมู่บ้าน ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จไปทรงเยี่ยมประชาชนที่บ้านตะแบง ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอขุขันธ์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ชายแดนอีสานใต้ ตั้งอยู่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
สำหรับการดำเนินงานในปัจจุบัน นายสมชาย เชื้อจีน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่าได้นำผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จแล้ว จากหน่วยงานทั้ง 14 แห่ง ที่ร่วมบูรณาการสนองพระราชดำริภายในศูนย์ฯ ไปขยายผลโดยนำราษฎรที่มีฐานะยากจนมาฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำกินด้านต่าง ๆ ตามที่ราษฎรสนใจ มีทั้งด้านประมง การเลี้ยงสัตว์ การพัฒนาที่ดินเพื่อการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ การปลูกข้าว มีศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ เป็นศูนย์กลางเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ เรียนรู้จุดเดียวได้ทุกอย่าง
“การให้บริการทุกวันนี้มีหลายแขนง ตั้งแต่ด้านพืช มีการปลูก เงาะ ลิ้นจี่ ทุเรียน ลำไย และกาแฟ ด้านประมงมีการเพาะขยายพันธุ์ปลา การอนุบาลลูกปลา และการเลี้ยงปลาทั้งเพื่อบริโภคและเชิงพาณิชย์ ด้านปศุสัตว์ มีการเลี้ยงไก่พื้นเมือง การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงโค การเลี้ยงหนูนา มีกระบวนการผลิตข้าวตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม ด้านป่าไม้มีกระบวนการเรียนรู้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล มีการขยายผลการเพาะเชื้อเห็ดระโงกในป่าปลูก ทุกคนก็จะช่วยกันดูแลป่าไม้เพราะช่วยให้เกิดเห็ดระโงกที่เก็บมาบริโภคและจำหน่ายได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการธนาคารอาหารชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร อย่างเช่น การปลูกหวายกินหน่อ ปลูกดอกกระเจียว ปลูกผักเม็ก ชะมวง ขี้เหล็ก ในป่าปลูก ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีแหล่งอาหารจากธรรมชาติอย่างต่อเนื่องช่วยลดการพึ่งพิงอาหารจากภายนอกชุมชน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของราษฎร ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี” นายสมชาย เชื้อจีน กล่าว
ทั้งนี้ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ได้สนองงานตามแนวพระราชดำริ ด้วยการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎร ปีละกว่า 1,500 ราย สร้างแปลงต้นแบบการเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงปีละ 150 ราย ผลิตพืชพันธุ์ดี เช่น ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์จันทบุรี 4 ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 เงาะ ลำไย มะยงชิด มะม่วง กาแฟโรบัสต้าพันธุ์ชุมพร 2 ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท ถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ - 60 ถั่วลิสง พันธุ์ขอนแก่น -6 ผลิตกล้าไม้เศรษฐกิจ ผลิตลูกปลาเพื่อปล่อยตามแหล่งน้ำสาธารณะปีละ 4,000,000 ตัว ผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมือง ปีละ 15,000 ตัว ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ดูแลผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ และงานศิลปาชีพกลุ่มทอผ้าจำนวน 268 ราย จัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตกล้าหญ้าแฝก ดูแลสมาชิกสหกรณ์การเกษตร จำนวน 1,500 คน และให้การต้อนรับผู้เข้าศึกษาดูงานปีละ 12,000 คน จากการดำเนินงานทำให้ราษฎรตามแนวชายแดนมีชีวิตความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างชัดเจน