วันที่ 5 ก.ค.66 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายอำนาจ ปานเผือก รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่สอง เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 1 ประจำปี2566 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) เข้าร่วม

 

นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.)เขตพญาไท พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การใช้แบบมาตรฐานทางเท้าของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากทางเท้าแต่ละแห่งมีการก่อสร้างได้ไม่นานก็ชำรุดเสียหาย รวมถึงไม่มีความสะดวกต่อผู้ใช้งาน จากการสำรวจ พบว่า การสร้างทางเท้าหลายแห่งยังใช้รูปแบบอิฐตัวหนอนอัดทรายซึ่งเป็นรูปแบบเก่า ขณะที่ กทม.ระบุว่าได้สร้างทางเท้าด้วยมาตรฐานใหม่แล้ว ทั้งนี้ ทางเท้าที่พบมีลักษณะไม่เสมอกับทางเข้าบ้านหรืออาคารสำนักงาน ทำให้ผู้ใช้งานไม่ได้รับความสะดวก โดยเฉพาะผู้พิการ เพราะไม่มีทางลาดเชื่อมขึ้นลงบนทางเท้า โดยเฉพาะจุดที่มีบ้านหลายหลังติดกัน แต่ละหลังตัดทางเข้าบ้านของตนซึ่งมีพื้นผิวไม่เสมอกับทางเท้านอกจากนี้ ยังมีการปลูกต้นไม้บนทางเท้าที่มีขนาดแคบ รวมถึงมีการติดตั้งตู้ควบคุมไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงบนทางเท้า ทำให้ทางเดินเท้าแคบลงยิ่งกว่าเดิม เหล่านี้เป็นปัญหาที่พบ จึงสงสัยว่า กทม.มีมาตรฐานการดำเนินงานเรื่องทางเท้าอย่างไรกันแน่

 

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ปัจจุบันทางเท้ามาตรฐานใหม่ ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 ทรายหยาบบดอัดแน่น ชั้นที่ 2 คอนกรีตเสริมเหล็ก WIRE MESH หนา 10 เซนติเมตร โดยออกแบบมาตรฐานใหม่เมื่อเดือน พ.ย.65 จำนวน 3 แบบ คือ 1.ทางเท้าแอสฟัลท์คอนกรีตพิมพ์ลาย 2.ทางเท้าปูกระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น 3.ทางเท้าคอนกรีตพิมพ์ลาย ทั้งนี้ รูปแบบเก่าใช้อิฐตัวหนอนอัดทราย จำเป็นต้องใช้กับการปรับปรุงทางเท้าบางจุด เพราะมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถนำมาตรฐานแบบใหม่มาใช้ทุกจุดได้ ส่วนแผนจากนี้ไปกำหนดให้ใช้ตามมาตรฐานแบบใหม่

 

สำหรับทางเชื่อมต่อระหว่างทางเท้ากับทางตัดเข้าบ้านหรือสำนักงาน กทม.กำหนด 2 กรณี คือ 1.ลดระดับทางเท้าบางช่วงให้เสมอทางเข้าบ้าน 2.บังคับให้บ้านเรือน สำนักงาน อาคารต่าง ๆ ทำทางเข้าให้เสมอกับทางเท้า โดยกำชับให้สำนักสิ่งแวดล้อมคำนึงถึงจำนวนของทางเท้าเป็นหลัก หากมีน้อยไม่ต้องนำต้นไม้ไปลงบนทางเท้า ทั้งนี้ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขสิ่งกีดขวางบนทางเท้าต่อไป

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ปี 2566 กทม.ปรับทางเท้าประมาณ 17 เส้นทาง โดยจัดงบฯให้ทุกสำนักงานเขตเร่งดำเนินการภายในปีนี้ ซึ่งจะเริ่มเห็นความชัดเจนในทุกเขตรวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ทางเท้าในกทม.มีประมาณ 3,000 กิโลเมตร จำเป็นต้องลำดับความสำคัญในการปรับปรุงแต่ละจุด อย่างไรก็ตาม ขอให้สัญญาต่อสภากรุงเทพมหานครว่า จะดำเนินการเรื่องทางเท้าให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2566 นี้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน