วันที่ 5 ก.ค.66 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัว "Chaiyan Chaiyaporn" ระบุว่า...

ต่อการที่ผู้แทนราษฏรได้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในงานรัฐพิธีเปิดประชุมสภาฯ เมื่อวานวันที่ 3 ก ค 2566

พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน ได้แสดงความคิดเห็นว่า

“ไม่เคยมีธรรมเนียมว่าผู้แทนปวงชนจะต้อง ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในรัฐพิธี เปิดสมัยประชุมสภามาก่อน ทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะเป็นการ “ประจบเจ้า” ออกหน้าออกตาจนเกินงาม ไม่มีความสง่าสม กับความเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจอธิปไตย ฝ่ายนิติบัญญัติที่ประชาชนเลือกมา” –

(พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เฟสบุ๊ค, 3 ก.ค. 66 | The Structure | LINE TODAY, ดูลิงก์แนบในคอมเมนท์)

หนึ่งในคำตอบที่ผู้แทนราษฏรให้เกียรติพระมหากษัตริย์ น่าจะเริ่มจาก

การยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโดย “พระยามโนฯ” (พระยามโนปกรณ์นิติธาดา) สืบเนื่องจากประกาศการเปลี่ยนแปลงของคณะราษฎร

โดยหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษมีเนื้อหาดังนี้

“วันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2475

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

เนื่องแต่คณะราษฎรได้มีประกาศแสดงถึงการกระทำของกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. นี้ ต่อมาคณะราษฎรได้ยึดอำนาจปกครอง และใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระธรรมนูญปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. นี้ ข้าพระพุทธเจ้า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพลหยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กรรมการราษฎร ได้ไปเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ณ วังสุโขทัย ทรงรับสั่งถึงความจริงที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎร และทรงพระราชดำริจะให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว และสิ่งอื่นๆ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำก็ล่าช้าไป หาทันกาลสมัยไม่ ส่วนการที่ข้าราชการในรัฐบาลของพระองค์ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็ทรงสอดส่องอยู่เหมือนกัน หาได้สมรู้ร่วมคิดด้วยไม่

เมื่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ทรงปรารถนาดีต่อราษฎรเช่นนี้

สิ่งใดที่ได้เป็นการหมิ่นประมาทในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าคณะราษฎร ขอพระราชทานกราบทูล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา”

(จาก วันนี้ในอดีต,

2 กรกฎาคม 2475 พระยามโนฯ ยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัย สืบเนื่องจากประกาศคณะราษฎร, กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม,

เผยแพร่วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2566)

ต่อจากนั้น วันที่ 4 กรกฎาคม 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานอภัยโทษแก่คณะราษฎรกรณีประกาศ 24 มิถุนายน 2475

โดยมีเนื้อหาดังนี้

“วังสุโขทัย

ถึง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และผู้แทนคณะราษฎร

ข้าพเจ้าได้รับหนังสือขอขมาในการที่คณะราษฎรได้ออกประกาศปรักปรำ แสดงถึงการกระทำของข้าพเจ้าเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. นี้ ในขณะที่คณะราษฎรได้เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน

ซึ่งบัดนี้คณะราษฎรได้ทราบความจริงแล้วว่า ข้าพเจ้าตั้งใจดีต่อราษฎร และได้คิดที่จะให้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว หากแต่ล่าช้าไปไม่ทันกาล และไม่ได้เป็นใจกับพวกทุจจริต

ข้าพเจ้าขอขอบใจคณะราษฎรซึ่งมีความหวังดีต่อข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าหวังว่าในโอกาสหน้าเมื่อถึงเวลาสมควร คณะราษฎรคงจะได้ออกคำแถลงการณ์ปลดเปลื้องมลทินให้ราษฎรได้ทราบความจริงดุจดังเมื่อประกาศหาความผิดไว้นั้น”

(จาก วันนี้ในอดีต,

4 กรกฎาคม 2475 รัชกาลที่ 7 พระราชทานอภัยคณะราษฎร กรณีประกาศ 24 มิถุนายน, กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

เผยแพร่วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2566)

และอาจมีคำตอบอื่นๆอีกมากตามมาก

จากกรณีการยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษวันที่ 2 ก ค 2475 และพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยโทษวันที่ 4 ก ค 2475 อาจทำให้เรานึกถึง พระราชกระแสที่ในหลวง รัชกาลที่ 10 พระราชทานแก่นักข่าวต่างประเทศในวันที่ 1 พ ย 2563 ที่ว่า บ้านเมืองเราเป็นดินแดนที่ประนีประนอม

(“Thailand is the land of compromise.”)