เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับการเลือก "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" โดยในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (นัดแรก) วันที่ 4 ก.ค.66 "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอชื่อ "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" (วันนอร์) ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ เพียงชื่อเดียว ขณะที่ "นายปดิพัทธ์ สันติภาดา" ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ"นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน" ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2
- สำหรับการดำรงตำแหน่งของ "ประธานสภาผู้แทนราษฎร - รองประธานสภา คนที่ 1 คนที่ 2" และหน้าที่ของ"เลขาธิการ" มี "อำนาจ-หน้าที่" ดังนี้
ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และหน้าที่ของเลขาธิการไว้ในหมวด 2 อำนาจและหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และหน้าที่ของเลขาธิการ ข้อ 8
- หน้าที่และอำนาจประธานสภาฯ
1. เป็นประธานของที่ประชุมสภา
2. กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภา
3. ควบคุมการรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมสภา ตลอดถึงบริเวณสภา
4. เป็นผู้แทนสภาในกิจการภายนอก
5. แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภา
6. อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไกในข้อบังคับนี้
- หน้าที่และอำนาจ "รองประธานสภาฯ"
ช่วยประธานสภาในกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานสภาหรือปฏิบัติการตามที่ประธานสภามอบหมาย เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภา หรือมีแต่ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
- กรณีที่มีรองประธานสภา 2 คน
ให้รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา
ถ้ารองประธานสภาคนที่ 1 ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา
- หน้าที่"เลขาธิการ"
1. นัดประชุมสภาและคณะกรรมาธิการครั้งแรก
2. เชิญผู้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุมสภาและที่ประชุมคณะกรรมาธิการ
3. ช่วยประธานในการควบคุมการนับคะแนนเสียง
4. จัดทำรายงานการประชุมและบันทึกการออกเสียงลงคะแนน
5. ยืนยันมติของสภาไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง
6. รักษาสรรพเอกสาร ข้อมูลและโสตทัศนวัสดุของสภา
7. ควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานสภากำหนด
8. หน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
9. ปฏิบัติการอื่นตามที่ประธานสภามอบหมายเข้าปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ ความสำคัญของประธานสภา ต่อพรรคการเมืองที่ได้ตำแหน่ง และความได้เปรียบในการบริหารประเทศ หากสำรวจดูในข้อบังคับการประชุมสภาฯ พ.ศ.2562 จะพบว่าประธานสภามีอำนาจหน้าที่อื่นๆ ในเชิงรายละเอียดที่สำคัญ เช่น
* จัดวาระการประชุม : ในข้อบังคับ ข้อ 23 จะกำหนดลำดับสำหรับการจัดวาระการประชุมไว้ และในวรรคสอง ก็เปิดช่องให้ประธานสภาใช้ดุลยพินิจได้ว่า หากเห็นว่าเรื่องใดเป็น “เรื่องด่วน” จะสามารถจัดไว้ในลำดับใดของระเบียบวาระการประชุมก็ได้ แต่ห้ามจัดไว้ก่อนเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
การจัดวาระของประธานสภา จึงมีความสำคัญ หากประธานสภาเห็นว่าเรื่องใด หรือร่างกฎหมายใดที่เป็น “เรื่องด่วน” ก็สามารถจัดไว้ในลำดับต้นๆ ของการพิจารณาได้ ซึ่งในทางปฏิบัติจากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 ส่วนใหญ่แล้วร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะถูกจัดวาระอยู่ใน “เรื่องด่วน”
* วินิจฉัยว่าญัตติใดเป็นญัตติด่วนหรือไม่ : ในข้อบังคับ ข้อ 44 กำหนดนิยามของญัตติ ไว้ว่า ข้อเสนอใดๆ ที่มุ่งหมายให้สภาลงมติหรือชี้ขาดว่าจะปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งโดยหลักแล้ว ญัตติทั้งหลายจะต้องเสนอ “ล่วงหน้า” เป็นหนังสือต่อประธานสภา และมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่าห้าคน
แต่ก็มีข้อยกเว้น ที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าหรือเสนอเป็นหนังสือ สามารถเสนอได้เลย ด้วยวาจาได้ ในข้อ 54 กำหนดข้อยกเว้นไว้ เช่น การขอเปลี่ยนวาระการประชุม ญัตติที่ประธานอนุญาตตามที่เห็นสมควร หรือ ญัตติด่วน
"นิยามของญัตติด่วน" ถูกอธิบายไว้ในข้อ 50 ว่ากรณีที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของประเทศ หรือมีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ หรือเพื่อจะขจัดเหตุใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสรีภาพประชาชนอย่างร้ายแรง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สภาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ส.ส. สามารถเสนอญัตติด่วนได้
ทั้งนี้ ประธานสภา มีดุลยพินิจวินิจฉัยว่าญัตติใดเป็นญัตติด่วน หากประธานสภาวินิจฉัยว่าญัตตินั้นๆ ไม่ใช่ญัตติด่วน ก็จะต้องนำญัตตินั้นไปบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมภายในเจ็ดวันนับแต่ได้รับญัตตินั้น ตามลำดับที่ยื่นก่อนหลัง อธิบายง่ายๆ ก็คือหากญัตติใดที่ประธานสภาวินิจฉัยว่าไม่ใช่ญัตติด่วน ก็ต้องไปต่อคิวในวาระประชุมเพื่อรอเข้าสู่การพิจารณาต่อไป แต่หากประธานวินิจฉัยว่าเป็นญัตติด่วน ญัตตินั้นก็มีโอกาสที่จะได้พิจารณาเร็วกว่า
ประธานสภายังมีหน้าที่ตามที่กฎหมายอื่นๆ กำหนด โดยเฉพาะในกลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) สำหรับการเสนอร่างพระราชบัญญัติ มาตรา 133 (3) กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ได้ โดยกฎหมายที่กำหนดขั้นตอน-กลไก การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564
"ประธานสภา" มีบทบาทสำคัญหลายอย่างในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยบทบาทที่สำคัญที่สุด คือการใช้ดุลยพินิจตีความว่าร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอมานั้น มีหลักการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ หรือไม่ หากประธานสภาตีความว่าร่างกฎหมายนั้นมีหลักการไม่สอดคล้องกับหมวด 3 และหมวด 5 ร่างกฎหมายที่ประชาชนจะเข้าชื่อเสนอก็จะไปต่อไม่ได้ตามกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
โดยรายละเอียดเรื่องนี้ กำหนดไว้ใน มาตรา 8 ขั้นตอนแรกสำหรับประชาชนที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เชิญชวนไม่น้อยกว่า 20 คน และเอกสารอื่นๆ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ บันทึกหลักการและเหตุผล บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ เพื่อเสนอต่อประธานสภาให้พิจารณา หากประธานสภาเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ มีหลักการที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ประธานสภาก็จะแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เชิญชวนเริ่มเชิญชวนให้คนอื่นมาเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ แต่หากประธานสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่ผู้เชิญชวนเสนอมานั้นมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับ หมวด 3 หรือหมวด 5 ประธานสภาจะส่งเรื่องคืนกลับไปยังผู้เชิญชวน ผู้เชิญชวนก็จะไม่สามารถเชิญชวนให้คนอื่นเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายได้
#วันนอร์ #ปดิพัทธ์สันติภาดา #หมออ๋อง #พิเชษฐ์เชื้อเมืองพาน #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #ประธานสภา #รองประธานสภา #อำนาจ #หน้าที่