บริษัท ธนัชวิชญ์ แทรเวล กรุ๊ป จำกัด ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การบริหารรถขนส่งเชิงพาณิชย์พลังงานไฟฟ้า” ระหว่าง บริษัท ทีเอ็น โลจิสติกส์ เมเนจเม้นท์ จำกัด (TNL) โดย นพ.ธนัช เงินประเสริฐศรี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงผู้โดยสาร และบริษัท เอเชียพลัส อีวี จำกัด (AEV) โดย นายอิทธิวัตร เภาสูตร์ ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ของ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งเชิงพาณิชย์ เป็นระบบ  EV transportation ด้วยการนำนวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียวมาใช้เพื่อช่วยลดต้นทุน และเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจสีเขียว ตลอดจนการจัดทำรายงานการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานของบริษัท และการสะสมคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปสู่การซื้อขายในอนาคต 

นพ.ธนัช เงินประเสริฐศรี กรรมการบริหาร บริษัท ทีเอ็น โลจิสติกส์ เมเนจเม้นท์ จำกัด (TNL) กล่าวว่า TNL เป็นบริษัทผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสาร มีรถสำหรับให้บริการประมาณ 200 คัน บริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืน เรามีความประสงค์ที่จะนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาใช้ทดแทนรถเดิมที่เป็นพลังงานฟอสซิล จึงนำมาสู่การ MOU กับ บริษัท เอเชียพลัส อีวี จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรถเชิงพาณิชย์พลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพ มีโรงงานผลิตในประเทศไทย โดย บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะมีการนำรถ EV มาใช้ในการขนส่งแล้ว ยังมีการบริหารจัดการเส้นทางโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้ได้เส้นทางที่ดีที่สุด มีการวางแผน กำกับ ติดตาม และจัดทำรายงานประจำวัน รวมทั้งจะมีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และสะสมคาร์บอนเครดิตเพื่อซื้อขายได้ในอนาคต 

“ถ้าจะถามเรื่องความคุ้มทุนในการปรับเปลี่ยนรถเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถ EV ในขณะนี้ยังคงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะรถ EV ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่มองว่าหากเรามีการบริหารจัดการเส้นทาง มีการคำนวณระยะทางการขนส่ง มีการกำกับ ติดตามและควบคุม ถ้าทำได้ตามแผนที่วางไว้ก็จะช่วยลดความสิ้นเปลืองและส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งถูกลง เชื่อว่าในระยะยาวไม่เกิน 3-5 ปี การใช้รถ EV มีความคุ้มทุนกว่ารถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างแน่นอน”

ด้าน นายอิทธิวัตร เภาสูตร์ ประธานบริหาร บริษัท เอเชียพลัส อีวี จำกัด (AEV)  กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระแสของรถ EV ยังคงมาแรงและมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากแทบทุกพรรคการเมืองมีนโยบายสนับสนุนการใช้รถ EV เพื่อลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 และเดินหน้าเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ประกอบกับเรื่องของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกำลังเป็นที่สนใจของสังคม โดยเฉพาะในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการขนส่ง ที่ตื่นตัวเดินหน้าสู่โลจิสติกส์สีเขียว แต่การจะเปลี่ยนผ่านระบบการขนส่งเชิงพาณิชย์จากยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลงสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังกังวลในเรื่องของความคุ้มทุน

ทั้งนี้บริษัทได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พัฒนาเทคโนโลยีโซลูชั่นมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและสนองนโยบายการเป็น Green Logistic แล้ว ยังสามารถสะสมคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปสู่การซื้อขายในอนาคต เป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง