วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล ให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ประโยชน์ของเกษตรกร ขณะนี้ได้รับรองพันธุ์ข้าวไปแล้วถึง 171 พันธุ์ เป็นพันธุ์ข้าวที่มีความหลากหลาย มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและเหมาะสมกับนิเวศน์การปลูกข้าวในประเทศไทย รวมถึงการมีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ เช่น ข้าวขาวพื้นแข็ง (กข85 และ กข95) ข้าวขาวพื้นนุ่ม (กข87) ข้าวพื้นเมืองอื่น ๆ (อาทิ ขาวเจ๊กชัยนาท 4 อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4 มะจานู 69 ขาหนี่ 117 และดำดาษ 20 ฯลฯ) และในปี 2566 มีข้าวจำนวน 4 สายพันธุ์ที่ยื่นเสนอขอรับรองพันธุ์ ได้แก่ ข้าวเจ้าสายพันธุ์ CRI12026-6-9-PSL-4-1-1-1 (กขจ1) ข้าวเหนียวสายพันธุ์ RGDU10017-1-MAS-49-4-1-NKI-1-3-1-2 (กข24) ข้าวเจ้าสายพันธุ์ PSL97060-17-CNT-1-2-1 (กข103) และข้าวสาลีสายพันธุ์ SMGBWS88008 (กขส) ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวสาลีที่เหมาะสมในการทำขนมปังให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี โดยข้าวทั้ง 4 สายพันธุ์ดังกล่าวจัดว่าเป็นสายพันธุ์ข้าวดีเด่น ที่พร้อมจะรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว เร็วๆ นี้

นายอนุชาฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ล่าสุดทีมนักวิจัยและส่งเสริมด้านข้าวของกรมการข้าว โดยนายสิปปวิชญ์ ปัญญาตุ้ย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตธัญพืชเมืองหนาวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง (Development the Potential of Temperate Cereal Production to High Value Creative Economy) ด้วยการวิจัยพืชเมืองหนาวเกี่ยวกับข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากข้าวสาลีขนมปังสายพันธุ์ดีเด่น SMGBWS8808 เปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ระหว่างสถานี และทดสอบพันธุ์ข้าวสาลีขนมปังในนาราษฎร์ ตั้งแต่ฤดูปลูกปี 2560-2563 พบว่า จากการศึกษาพันธุ์ข้าวสาลีขนมปัง จำนวน 20 สายพันธุ์ มีข้าวสาลีจำนวน 8 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง (FNBW8301-5-5 FNBW8310-1-SMG-1-1-1 LARTC-W89011 MHSBWS12010  MHSBWS12046  PMPBWS89013  PMPBWS89248 และ SMGBWS88008) อีกทั้งยังพบว่าสายพันธุ์ LARTC-W89011 มีค่าเฉลี่ยของผลผลิตสูงสุด และ SMGBWS88008 สามารถใช้แปรรูปเป็นแป้งขนมปังได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น ดังนั้น รัฐบาล โดยกรมการข้าว จึงมีแนวโน้มผลักดันขยายผลการปลูกข้าวสาลี ในพื้นที่ที่เหมาะสมในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งธรรมชาติของข้าวสาลีเป็นพืชฤดูหนาว จึงต้องปลูกปลายฤดูฝน หรือหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว โดยพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวสาลีจึงเป็นพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่ 

นอกจากนี้ ยังจะมีการขยายผลผลิตในการแปรรูปเป็น “คราฟต์เบียร์” เพื่อขยายช่องทางการตลาด เพิ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปและมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างวิจัยพื้นที่การปลูกที่เหมาะสมกว่า 2,000 ไร่ และจะมีการขยายให้เพิ่มมากขึ้น โดยจำกัดด้วยอุณหภูมิ 5 องศา ไม่เกิน 30 องศาที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าว ทั้งนี้ ในการจัดงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2566 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งในส่วนกลางจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2566 ณ กรมการข้าว ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภายใต้ชื่องาน “91 พรรษา สายธารแห่งน้ำพระทัย สร้างชาวนาวิถีใหม่ สู่ข้าวไทยยั่งยืน” กรมการข้าวได้มีการนำตัวอย่างผลงานวิจัยผลผลิตในการแปรรูปเป็น “คราฟต์เบียร์” จากข้าวสาลีมาจัดแสดงและให้ผู้เข้าร่วมงานได้ลองชิมด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงาน 

“รัฐบาลและพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านการผลิตข้าว โดยการวิจัยพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายกำหนดไว้ โดยได้มอบหมายให้กรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำโครงการด้านการพัฒนาการผลิตข้าว ที่มุ่งบรรลุผลในด้านต่าง ๆ ได้แก่ พัฒนาชาวนาให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ อยู่ดีมีสุข บริหารจัดการด้านการผลิตข้าวให้มีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว และการผลิตข้าวให้สามารถแข่งขันได้ ตลอดจน ส่งเสริมสนับสนุนการแปรรูปและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงตามความต้องการของตลาด” นายอนุชา กล่าว