อพท. ดัน“คลองท่อม กระบี่” พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดึงกลุ่มรักสุขภาพสัมผัส “น้ำพุร้อนเค็ม - น้ำตกร้อน” ฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างรายได้ชุมชน
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. พร้อม นางสาววาสนา พงศาปาน ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร(สสอ.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เพื่อศึกษาและสำรวจศักยภาพ “คลองท่อม” จ. กระบี่ หนุนขึ้นแท่นเมืองสุขภาพ หรือ Wellness ผลักดันประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กำหนดเป้าหมายการทำงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนา โชว์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ น้ำตกร้อนและน้ำพุร้อนเค็ม ตอบโจทย์ตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชื่นชอบท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ มุ่งกระจายรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่น และฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน โดยมีนายสุรัตน์ จรณโยธิน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่ ให้การต้อนรับ
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหารอพท. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จ.กระบี่ เพื่อศึกษาศักยภาพ ความเหมาะสมของพื้นที่อำเภอคลองท่อม ให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยืน ครอบคลุมบริเวณ น้ำตกร้อน สระมรกต และน้ำพุร้อนเค็ม ภายใต้แนวคิด “คลองท่อมเมืองสุขภาพ หรือ Wellness” ภายหลังได้รับมอบหมายจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำเนินการศึกษาพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากพบว่าอำเภอคลองท่อม มีความโดดเด่นทั้งด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเฉพาะที่ตำบลห้วยน้ำขาว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำพุร้อนเค็ม เป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen มีน้ำพุร้อนเค็มแห่งเดียวของประเทศไทยและเป็น 1 ใน 2 แห่งของทั่วโลก โดยอีกหนึ่งแห่งอยู่ในประเทศสาธารณรัฐเชค แถบยุโรปตะวันออก
ทั้งนี้ อพท. เตรียมสรุปผลการศึกษาและนำเสนอคณะกรรมการ อพท. พิจารณาประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเห็นชอบ ซึ่งคาดว่า ปลายปีนี้จะศึกษาแล้วเสร็จ และจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งกระบวนการในปี 2567 จากนั้นจะไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ อำเภอคลองท่อม ที่จะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล และแผนยุทธศาสตร์ชาติ BCG Model ที่นำคุณค่าทางทรัพยากรที่มีอยู่ มายกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถดึงเงินลงทุนเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
เป้าหมายพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ครั้งนี้ นับเป็นกลไกสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดย อพท. ทำหน้าที่เป็นองค์กรในการประสานหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่คลองท่อม เพื่อบริหารจัดการพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยทำคู่ขนานกับชุมชน ให้คนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพให้กับชุมชนและเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาความเจริญให้กับชุมชนและพื้นที่ในระยะยาว
“จุดเด่นของน้ำพุร้อนเค็ม คือ มีแร่ธาตุสูงที่เป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งปัจจุบันมีภาคเอกชนเริ่มเห็นประโยชน์และนำน้ำร้อนเค็มขึ้นมาใช้ มีการลงทุนทางธุรกิจไปบ้างแล้ว แต่การลงทุนจากภาครัฐยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม รวมทั้งการควบคุมด้านคุณภาพน้ำและปริมาณการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดนำไปสู่การเพิ่มและกระจายรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงในมิติของแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ จะทำให้ อพท. เข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อดำเนินการเรื่องการใช้น้ำ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การจัดทำผังเมือง ด้านการลงทุนประสานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พิจารณาจัดทำสิทธิประโยชน์เชิญชวนนักลงทุน หากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตภายหลังจากมีการประกาศพื้นที่พิเศษฯ อำเภอคลองท่อมแล้ว อพท. จะใช้ องค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน ได้แก่ เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) เพื่อยกระดับคลองท่อมเป็น Wellness City และจะเข้าไปยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ และเชิญชวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและมีศักยภาพเข้ามาพัฒนาพื้นที่คลองท่อม ให้เป็นมากกว่าแหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นแหล่งฟื้นฟูและดูแลสุขภาพ รวมถึงการนำเสนอการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่แห่งนี้ เข้าสู่เวทีในระดับสากล โดยการเสนอชื่อเข้ารรับการรับรองเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ TOP 100 (Green Destinations Top 100 Stories)
ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอคลองท่อมมีการตื่นตัว พัฒนาศักยภาพพื้นที่ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 อพท. ได้นำ มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard : STMS) ไปประเมินโดยมี 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ เทศบาลตำบลคลองท่อมใต้ และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองท่อมเหนือ ซึ่งพบว่ามีการบริหารจัดการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และได้รับใบประการมาตรฐาน STMS ในปีงบประมณ 2565
จากสถิติปี 2562 จังหวัดกระบี่มีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเกือบ 7 ล้านคนต่อปี โดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4 ล้านคน และในปี 2562 จังหวัดกระบี่ ทำรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ คิดเป็นตัวเลขประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวเลขนักท่องเที่ยวก็ลดลงตามลำดับจากนโยบายการปิดประเทศ แต่หลังจากปลายปี 2565 ถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวทะยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดย 5 เดือนแรกปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจังหวัดกระบี่ ประมาณ 1.2 ล้านคน นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก 1.8 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นจากนักท่องเที่ยวในประเทศ 9,000 ล้านบาท ต่างชาติ 4,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นตลาดสำคัญ ได้แก่ กลุ่มยุโรป และกลุ่มอาหรับ ซึ่งกลุ่มนี้ชื่นชอบโปรแกรมเพื่อดูแลสุขภาพ