วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ณ ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข (ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม) นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วย ดร.โฆสิต สุวินิจจิต ที่ปรึกษากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ด้านการส่งเสริม คุ้มครอง พิทักษ์สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางสาวจิฬาภรณ์ ตามชู กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา และ นายปริญญ์วัฒน์ เปี่ยมปิ่นวงศ์ หัวหน้าศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข ร่วมมอบเงินแก่ผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 จำนวน 3 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 220,000 บาท
โดยมีรายชื่อ ดังนี้ 1.กรณี นางมณฑาทิพ (ผู้ตาย) ได้รู้จักกับ นางสรารัตน์ หรือ แอม ไซยาไนด์ เนื่องจากเช่าตึกแถวอยู่บริเวณเดียวกัน และได้มีการเล่นแชร์ร่วมกัน ผู้ต้องหาได้พาไปดูหมอดูหรือการเข้าทรงอยู่หลายครั้ง โดยวันเกิดเหตุผู้ต้องหาได้มาส่งผู้ตายและขึ้นไปอยู่ห้องพักด้วยกัน ซึ่งผู้ต้องหาอยู่กับผู้ตายเป็นคนสุดท้ายจากนั้นจึงได้เสียชีวิต โดยคณะอนุกรรมการฯ มิมติพิจารณาอนุมัติเงินเยียวยาให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิต เป็นค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จำนวน 50,000 บาท ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวน 40,000 บาท และค่าเสียหายอื่น จำนวน 40,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 150,000 บาท (เป็นกรณีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ สาธารณชนให้ความสนใจ)
ส่วน 2. กรณีข่าวนัดเคลียร์ปัญหา “ลูกสาววัย 17 ปี ถูกวัยรุ่นรุมฟันหน้า ต้องเย็บแผลกว่า 200 เข็ม” โดยนายพรชัย (ผู้บาดเจ็บที่ 1) ได้บอกให้นางสาวธนรัตน์ (ผู้บาดเจ็บที่ 2) นัดหมายให้ผู้ต้องหามาเจอเพื่อเคลียร์เรื่องที่เคยมีปัญหากัน แต่เมื่อผู้ต้องหาและพวกมาถึงที่เกิดเหตุ ได้นำอาวุธมีดแทงนายพรชัยฯ ได้รับบาดเจ็บที่แขนตรงเส้นเอ็น ยังกำมือไม่ได้ และผู้ต้องหาอีกคนใช้ง้าวฟันไปที่หน้าของนางสาวธนรัตน์ฯ ทำให้จมูกเกือบขาดต้องเย็บกว่า 200 เข็ม เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มิมติพิจารณาอนุมัติเงินเยียวยากรณีได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ 2.1 นางสาวธนรัตน์ ให้จ่ายค่าตอบแทนความเสียหายอื่น จำนวน 50,000 บาท 2.2 นายพรชัย ให้จ่ายค่าตอบแทนความเสียหายอื่น จำนวน 20,000 บาท
ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา ตามหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม และพร้อมยืนเคียงข้าง "ผู้บริสุทธิ์" และจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) และส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือติดต่อที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง