กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดันสมุนไพรไทยหวังสร้าง Soft Power ให้เป็นที่นิยมไกลไปต่างประเทศปั้นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร DBD SMART Local HERB จำนวน 42 ราย เริ่มต้นตั้งแต่ค้นหา บ่มเพาะ และพาออกสู่ตลาดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจ THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 เพียง 5 วัน กวาดมูลค่าการค้ากว่า 200 ล้านบาท จากนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจต่างชาติ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินเดีย ฮือฮาเจรจาธุรกิจปิดดีลได้ในงานกว่า 34 ล้านบาท และกระตุ้นมูลค่าการค้ายาวไปอีก 1 ปีข้างหน้าถึง 169 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายสร้างจุดขายให้สมุนไพรไทยโดดเด่น พร้อมประกาศศักยภาพสมุนไพรไทยต้องต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ให้ได้
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร มุ่งสร้างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้สามารถเติบโตและขยายตลาดไปต่างประเทศได้ ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก เริ่มจากรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการฯ มากกว่า 100 ราย ที่ผลิตภัณฑ์มีความพร้อมด้านประโยชน์หรือสรรพคุณของสมุนไพร มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการตลาด จากนั้นบ่มเพาะความรู้ให้ทันโลกการค้ายุคใหม่ ชี้ให้เห็นโอกาสทางการตลาด ความสำคัญของกฎระเบียบและมาตรฐานเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่ผลิตภัณฑ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมีผู้ประกอบการฯ จำนวน 42 ราย ได้เข้าสู่การเป็น DBD SMART Local HERB และมีโอกาสขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ e-catalog, คลิปวิดีโอ และภาพประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยสร้างความนิยมให้สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักทั้งผู้บริโภคชาวไทยและต่างประเทศและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการฯ เติบโตได้ในต่างประเทศต่อไป
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร(DBD SMART Local HERB) เข้าร่วมงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งผลการเข้าร่วมงานเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมบูท 1,275 รายและประสบความสำเร็จในการเจรจาการค้า ของผู้เข้าร่วมงานเจรจาจำนวน 272 ราย แบ่งเป็น นักธุรกิจไทย 117 ราย นักธุรกิจต่างชาติ 155 ราย อาทิ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินเดีย ในจำนวนนี้มีผู้สนใจต้องการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจากผู้ประกอบการ DBD SMART Local HERB ถึงร้อยละ 98 สร้างมูลค่าการค้ามากถึง 203.31 ล้านบาท จากการเจรจาการค้าซื้อขายผลิตภัณฑ์ได้ทันที คิดเป็นมูลค่า 34.31 ล้านบาท และต่อยอดมูลค่าการค้าได้อีกใน 1 ปีข้างหน้าจำนวน 169 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการซื้อขายมากที่สุดคือ ขมิ้นชันผง น้ำมะขามป้อม ขนมจากขิง เครื่องดื่มจากจมูกข้าว และเครื่องแกง
“การพา DBD SMART Local HERB เข้าร่วมกิจกรรมแสดงศักยภาพและเจรจาธุรกิจเป็นความมุ่งมั่นของกรมฯ ที่ต้องการเปิดประตูอนาคตให้สมุนไพรไทยควบคู่กับอาหารและเครื่องดื่มให้มีความพร้อมต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมหรือภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างธุรกิจ Health & Wellness ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งกรมฯ ตั้งเป้าหมายพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร และในอนาคตต้องเป็นหนึ่งในสินค้าที่ช่วยผลักดันนโยบาย Kitchen of the World และ Medical and Wellness Hub ของไทยได้”
ทั้งนี้โอกาสของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยยังมีอยู่มาก การพัฒนาผู้ประกอบการฯ และพาร่วมงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 แสดงให้เห็นชัดแล้วว่าความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศ แต่ยังเป็นที่ต้องการของนักธุรกิจต่างชาติด้วย ดังนั้น ถือว่ากรมฯ มาถูกทางในการพัฒนาผู้ประกอบการฯ และชูจุดเด่นให้สมุนไพรไทยซึ่งเป็นวัตถุดิบคุณภาพ และอัตลักษณ์อันทรงคุณค่าที่ได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นถึงภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยผ่านการผลิตด้วยนวัตกรรมที่จะทำให้ต่อยอดสู่ความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ และในปี 2566 กรมฯยังจะมองหาตลาดให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในเชิงรุก โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายใน 3 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุ ผู้รักสุขภาพ และผู้ออกกำลังกาย สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่มีความนิยมใช้สมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพเน้นการป้องกันตัวมากกว่าการรักษา ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยและโอกาสสำคัญที่จะสร้างให้สมุนไพรไทยเติบโต
โดยจากข้อมูลการจดทะเบียนของกรมฯ (ณ วันที่ 9 มิ.ย.66) พบว่า มีธุรกิจผลิตและแปรรูปสมุนไพรที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 1,000 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 7,600 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำนวน 891 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.10 ของธุรกิจในกลุ่มนี้ และในปี 2565 มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นจากสถิติจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ที่มีจำนวน 214 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 74 ราย คิดเป็นร้อยละ 49.65