กรมชลประทาน เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหล ในช่วงวันที่ 1-4 ก.ค. 2566

วันที่ 1 ก.ค.66 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและเสี่ยงดินถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณีพบพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

🚨ภาคตะวันออก ได้แก่จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่ และเมืองตราด)

🚨ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดตรัง (อำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ เมืองตรัง และห้วยยอด) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า และควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน)

กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือ โดยติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และกำหนดจุดเสี่ยงพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุม เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที