วันที่ 1 ก.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Thira Woratanarat" ระบุว่า...
อัพเดตสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก
...ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก...
WHO Weekly Epidemiological Update วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
ผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ทั่วโลกจนถึง 11 มิถุนายน พบว่า XBB.1.16 แซง XBB.1.5 ขึ้นมาเป็นสายพันธุ์ที่ครองสัดส่วนการระบาดสูงสุดที่ 20.53%
ในขณะที่ XBB.1.5 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือ 19.79%
ส่วนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ คือ XBB.1.9.1 และ XBB.1.9.2 นั้นตามมาอยู่ที่ 19.52% และ 12.18% ตามลำดับ
ณ ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกบรรจุสายพันธุ์ย่อยของ Omicron ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเฝ้าระวังจำนวน 8 ตัว ได้แก่ XBB.1.5, XBB.1.16, BA.2.75, CH.1.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2, และ XBB.2.3 โดย 2 ตัวแรกจัดเป็น Variants of Interest (VOI) และ 6 ตัวหลังเป็น Variants under Monitoring (VUM)
...ข้อมูลจาก Roemer C และคณะจากสวิสเซอร์แลนด์...
รายงานเมื่อ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา เผยแพร่ใน GITHUB ได้วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์โดยข้อมูลจาก GISAID จนถึงต้นเดือนมิถุนายน 2566
ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันกว่า 95% ของสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดทั่วโลกนั้นเป็น XBB.x
โดยประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ XBB.x ยังมีอัตราการเติบโตนำสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ยกเว้นออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ทั้งนี้ออสเตรเลียมีสายพันธุ์ย่อย XBC ครองการระบาดอยู่ถึง 15-20% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง XBC.1.6 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวที่อยู่ในระดับที่แข่งได้กับ XBB.1.16
ส่วนนิวซีแลนด์นั้นมีสายพันธุ์ย่อย FK.1 ที่ครองสัดส่วนอยู่ 35% แม้ส่วนใหญ่ยังเป็น XBB ก็ตาม
...ข้อมูลจากญี่ปุ่น...
สำนักข่าว NHK เผยแพร่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่นเมื่อคืนนี้
ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นมีการระบาดเพิ่มขึ้นแทบทั้งประเทศ โดยมีสถิติจำนวนเคสเฉลี่ยที่สูงขึ้น โดยมีรายงานเพิ่มขึ้นใน 39 เขตปกครอง (prefectures) จากจำนวนทั้งหมด 47 เขตปกครองของประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แถบโอกินาว่านั้นมีสถานการณ์ระบาดที่รุนแรงกว่าระลอกต้นปีที่ผ่านมา
...คำเตือนจาก Chief scientist, WHO
Jeremy Farrar ซึ่งเป็น Chief scientist ขององค์การอนามัยโลก ได้ให้สัมภาษณ์ ลงในวารสาร Science ฉบับวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา (ภาพที่ 4)
ย้ำเตือนให้ทั่วโลกเตรียมรับมือกับผลกระทบจากปัญหา Long COVID ที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา ทั้งเบาหวาน ความจำเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากหลักพันล้านคน แม้โอกาสเกิดจะไม่มากหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่จำนวนผู้ป่วยจริงที่เกิดขึ้นจะมีจำนวนมาก
...ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. WHO Weekly Epidemiological Update. WHO. 29 June 2023.
2. Roemer C et al. Variant report 2023-06-29.
3. Coronavirus cases in Japan continuing to gradually increase. NHK World. 30 June 2023.
4. AI? Brain manipulation? WHO’s new chief scientist aims to anticipate global challenges. Science. 29 June 2023.