ศูนย์วิจัยกสิกรไทย​สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือนที่ 35.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้เงินบาทปรับตัวในกรอบแคบๆ ก่อนทยอยอ่อนค่าลงตามทิศทางเงินหยวนซึ่งถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (อาทิ จีดีพีไตรมาส 1/66 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์) ที่ดีกว่าที่คาด และถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำถึงโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ในเดือนก.ค. เงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าจนถึงในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นทางการเมืองของไทย ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงท้ายสัปดาห์ตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันในช่วงปิดสิ้นเดือน และสิ้นไตรมาส  

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 3-7 ก.ค.2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.00-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือนมิ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย. ผลการประชุมนโยบายการเงินของ RBA ตลอดจนดัชนี PMI เดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี 5 เดือนที่ 1,461.61 จุด ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาปิดเหนือ 1,500 จุดช่วงท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ประกอบกับตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาบริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มอื่นๆ ขณะที่หุ้นกลุ่มแบงก์เผชิญแรงกดดันจากความกังวลประเด็นเรื่องหนี้เสีย อย่างไรก็ดีหุ้นไทยทยอยฟื้นตัวกลับมาบางส่วนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังนักลงทุนคลายความกังวลต่อประเด็นการเมือง (แม้จะยังต้องติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป) รวมถึงมีปัจจัยหนุนจากการทำ Window Dressing ช่วงสิ้นไตรมาส

สัปดาห์ที่ 3-7 ก.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,480 และ 1,460 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ การประชุมของกลุ่มโอเปก (5-6 ก.ค.) ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ รายงานการประชุมเฟด ตลอดจนดัชนี PMI เดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีนและยูโรโซน