จากประกาศกรุงเทพมหานคร วันที่ 23 มิ.ย.66 เรื่อง อนุญาตให้นักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง สามารถแต่งชุดส่วนตัว (Private Dress) มาโรงเรียนได้สัปดาห์ละ 1 วัน รวมถึง นักเรียนสามารถกำหนดทรงผมของตนเองได้ภายใต้สุขอานามัย และการเคารพสิทธิเสรีภาพจิตใจและร่างกายของนักเรียนนั้น
ล่าสุดวันที่ 30 มิ.ย.2566 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ร่วมกันจัดแถลงข่าวถึงที่มาที่ไปของประกาศฯดังกล่าว ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง
นายศานนท์ กล่าวว่า ใจความของประกาศดังกล่าวมี 3 ประเด็น คือ 1. ต้องการสื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 2. ลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง โดยเฉพาะนักเรียนสังกัด กทม.ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ 3. การมีส่วนร่วมของนักเรียนก่อนออกประกาศภายในโรงเรียนของตนเอง ว่าต้องการแต่งกายและไว้ทรงผมอย่างไร โดยทั้ง 2 ประกาศดังกล่าวสอดคล้องและอ้างอิงจากประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งกำหนดเนื้อหาไว้ค่อนข้างกว้าง กทม.จึงออกประกาศสำทับเพื่อให้แต่ละโรงเรียนมีแนวทางปฎิบัติชัดเจนขึ้น โดยกำหนดว่า เรื่องการไว้ทรงผม ต้องคำนึงถึงสุขอนามัยที่ดี สะอาด ส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ ภายใต้การส่งเสริมให้นักเรียนรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ได้รับความอับอาย เช่น การถูกครูตัดผมทำให้อับอาย หากมีการฝ่าฝืนลิดรอนสิทธิ์นักเรียนรุนแรง จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไป
ส่วนเรื่องการแต่งกาย กำหนดแนวทางในประกาศไว้ว่า ใส่ชุดใดก็ได้ 1 วัน ต่อสัปดาห์ จุดประสงค์ต้องการเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ระโรงเรียนประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง กำหนดแนวทางการแต่งกายของตนเองก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยคำนึงการลดค่าใช้จ่าย เนื่องจาก ปัจจุบันรัฐอุดหนุนเครื่องแบบนักเรียนปีละ 2 ชุด แบ่งเป็น ชุดนักเรียน 1 ชุด และชุดลูกเสือ ชุดพละ สลับกันปีละ 1 ชุด
นางสาวศุภร กล่าวว่า ปกติ กทม.กำหนดให้นักเรียนแต่งชุดส่วนตัวได้ในวันศุกร์ แต่มีเงื่อนไขด้านความเหมาะสมสวยงามเหมือนกันทั้งโรงเรียน เช่น การแต่งชุดผ้าไทย โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมความเป็นไทยที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วยส่วนกำหนดให้นักเรียนเริ่มแต่งชุดส่วนตัวตามประกาศได้วันใด รายละเอียดการแต่งกายแบบใด ขึ้นอยู่กับการประชุมกำหนดแนวทางร่วมกันของแต่ละโรงเรียน สามารถเริ่มหารือได้ทันทีหลังจากนี้ โดยคำนึงถึงบริบทด้านศาสนาวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ประกอบด้วย
นายศานนท์ กล่าวว่า การกำหนดให้แต่งชุดส่วนตัวอย่างน้อย 1 วัน เป็นการเปิดกว้างให้มีการเริ่มต้นทดลองแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อศึกษาข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้น ไม่สามารถประกาศให้ชัดเจนภายในครั้งเดียว เพราะคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของนักเรียนและสถานศึกษาที่ต้องออกแบบกำหนดแนวทางร่วมกัน โดยมีพื้นฐานด้านการลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเป็นหัวใจ ดังนั้น จึงมีองค์ประกอบหลายอย่างที่สำคัญ กทม.ไม่สามารถไปกำหนดว่าต้องแต่งอย่างไร กี่วันวันใดบ้าง รายละเอียดดังกล่าวเป็นเรื่องของแต่ละโรงเรียนร่วมกันกำหนดเอง อย่างไรก็ตาม ต้องมีการถอดบทเรียนสิ่งที่เกิดขึ้นจากนี้ต่อไป
นางสาวศุภร กล่าวว่า ยังมีกรอบจากครูและผู้ปกครองในเรื่องการแต่งชุดส่วนตัวของนักเรียนอยู่บ้าง แต่การออกประกาศของ กทม. ชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าในการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบางอย่างในโรงเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมต่อการเป็นแปลงกฎระเบียบ ยังไม่เคยเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการมาก่อน เหล่านี้จุดประกายให้เด็กได้เรียนรู้การแสวงหาจุดร่วมในสถานศึกษาของตนเอง คาดว่าจะได้เห็นแนวทางและความชัดเจนของแต่ละโรงเรียนในเทอมการศึกษาหน้าต่อไป
นายศานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ท้ายที่สุด เรื่องการแต่งชุดส่วนตัวในโรงเรียนอาจมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปรียบเทียบในหมู่นักเรียนเอง แต่ตนเชื่อว่าการเปรียบเทียบเป็นธรรมดาของโลก และเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวของ กทม.เป็นการจำลองโลกภายนอกให้เด็กเข้าใจและยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ส่วนข้อดีคือ เด็กได้ค้นพบความชอบ ความเหมาะสมในการแต่งกายของตัวเอง โดยมีครูและโรงเรียนเป็นผู้ดูแลแนะนำ ก่อนก้าวไปสู่โลกภายนอก
สำหรับรายละเอียดประกาศ กทม. 2 เรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย 1. แนวทางการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนในสังกัด กทม. ตามที่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ข้อ 15 กำหนดว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฎศิลป์ หรือชุดอื่น ๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสมนั้น
เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง จึงให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดจากนั้นให้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนนำไปประกาศใช้ โดยในกรณีที่มีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของนักเรียนผู้นั้นที่จะสวมชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดอื่นใดที่โรงเรียนกำหนดให้มีไว้อยู่แล้ว แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน
2. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2566 ประกาศ ณ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ 2566 นั้น เพื่อเป็นการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน จึงให้โรงเรียนจัดทำข้อกำหนดฯ ให้นักเรียนไว้ทรงผมได้อย่างอิสระบนพื้นฐานสุขอนามัยที่ดี สะอาด ส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ จากนั้นให้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนนำไปประกาศใช้ โดยในกรณีมีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ ให้โรงเรียนรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อทำความเข้าใจและตกลงร่วมกัน แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียน เช่น การตัดผม ทำให้อับอาย ฯลฯ